• ทีม ENVISAGE คว้าแชมป์ด้วยนวัตกรรม “ประกันภัยอาคารทรัพย์สินอัจฉริยะ Smart Home” ส่วนทีม SoTa คว้าแชมป์ด้วยนวัตกรรม “AI สร้างภาพ 3D จากกล้องมือถือเพื่อทำประกันรถยนต์ และตรวจผลการเคลมได้แม่นยำ” พร้อมต่อยอดขยายผลเสริมศักยภาพของธุรกิจ และการบริการ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2020” ภายใต้โจทย์ “InsurTech Breaking Through The New Insurance Possibility พุ่งทะลุสู่ทุกความเป็นไปได้กับโลกประกันภัยยุคใหม่” ตอบโจทย์การปรับตัวของอุตสาหกรรมประกันภัยในยุค Post Covid-19 ที่ต้องการนวัตกรรมไร้ขีดจำกัดในการก้าวสู่ยุคใหม่ของโลกประกันภัย โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนิสิต นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าประกวดในครั้งนี้ จำนวน 134 ทีม มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก 5 หลักเกณฑ์ คือ หลักเกณฑ์แรก ปัญหาที่ตั้งขึ้นมามีอยู่จริงและมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ หลักเกณฑ์ที่ 2 แนวทางการแก้ไข มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นแนวทางใหม่ สามารถตอบโจทย์และใช้งานได้จริง หลักเกณฑ์ที่ 3 โอกาสของผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจ หลักเกณฑ์ที่ 4 การเลือกเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหมาะสมและมีความทันสมัย และหลักเกณฑ์ที่ 5 เป็นเทคนิคการนำเสนอผลงานได้ใจความและเข้าใจง่ายในเวลาที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการตัดสินจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 ท่าน ดังนี้ นายทำนุ อมาตยกุล ประธานคณะอนุกรรมการดิจิทัลเพื่อการพัฒนาการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย ดร.โชติมา พัวศิริ คณะกรรมการ InsurTech สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายศุภกิจ ศุภบรรณพงษ์ กรรมการ สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นางเพียรไกร อัศวโภคา ที่ปรึกษา สมาคมฟินเทค ประเทศไทย นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกลยุทธ์องค์กร และนายชินพงศ์ กระสินธุ์ Head of Center of InsurTech, Thailand (CIT) โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและการประกาศผลรางวัล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
สำหรับผลการตัดสินการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2020” ประเภทนิสิต นักศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ENVISAGE ภายใต้แนวคิด “ประกันภัยอาคารทรัพย์สินอัจฉริยะ Smart Home” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม InYouth ภายใต้แนวคิด “แพลตฟอร์มคุ้มครองเด็กจบใหม่ แต่ยังไร้งาน” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม CARCARE ภายใต้แนวคิด “แอพพลิเคชั่นดูแลการเคลมรถยนต์รวมครบ จบที่แอพเดียว ครบวงจร” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และรางวัลชมเชยลำดับที่ 1 ได้แก่ ทีม OMG ภายใต้แนวคิด “เกมประกันภัย ที่จะทำให้ประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลชมเชยลำดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Tu Solution ภายใต้แนวคิด “แพลตฟอร์มบริการข้อมูลสำหรับการช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
ส่วนผลการตัดสินประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SoTa ภายใต้แนวคิด “AI สร้างภาพ 3D จากกล้องมือถือเพื่อทำประกันรถยนต์ และตรวจผลการเคลมได้แม่นยำ” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Agnos ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยี AI ช่วยผู้ป่วยในการวิเคราะห์อาการตัวเองแม่นยำ ไม่ต้องพึ่งหมอกูเกิล” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Team Fyn ภายใต้แนวคิด “การบริการประมวลผลประวัติการซ่อมการเคลมรถยนต์ ป้องกันปัญหาคนขับชนหนักแล้วย้ายค่ายประกัน” ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และรางวัลชมเชยลำดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Voyage ภายใต้แนวคิด “แพลตฟอร์มเพื่อการประกันภัยคุ้มครองการท่องเที่ยวในประเทศที่ตรงใจหลากหลาย” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชมเชยลำดับที่ 2 ได้แก่ ทีม ซัมซานเทค ภายใต้แนวคิด “แพลตฟอร์มรวมกลุ่มประกันภัยรถยนต์ที่คุ้มครองค่าความเสียหายส่วนแรกถูกใจ gen-Y” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมด้านการประกันภัย (InsurTech) ด้วยแนวคิดและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปีนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม InsurTech ที่เคยจัดเมื่อปีก่อนหน้านี้ แต่ศูนย์ CIT ได้พลิกวิกฤตของโรคโควิด-19 ให้เป็นโอกาส โดยเน้นสื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์โครงการประกวดฯ ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และทำให้มียอดผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 134 ทีม จากทั่วประเทศ มากกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เข้ารับชม VDO Content สาระต่าง ๆ ด้าน InsurTech ไปแล้วกว่า เกือบ 2 แสนครั้ง มีการชม (View) คิดเป็นเวลาที่ได้เผยแพร่ความรู้ด้าน InsurTech ไปแล้วเกือบ 7,000 ชั่วโมง รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ InsurTech ผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เพิ่มการรู้จักและตระหนักถึง InsurTech ได้มากกว่า 7.5 ล้านครั้ง ซึ่งการจัดทำโครงการ OIC InsurTech Award 2020 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์ Center of InsurTech, Thailand (CIT) โดยในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2563 สำนักงาน คปภ. ได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการประกวดในครั้งนี้ในเชิงรุกเข้าถึงสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้เปิดหลักสูตรออนไลน์ หรือคลังความรู้ออนไลน์ Online bootcamp ช่วยให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ด้าน InsurTech ในวงกว้าง อีกทั้ง ยังเป็นการเสริมทักษะและความรู้ที่สำคัญ ถึง 14 บทเรียนให้แก่ผู้สมัครทุกทีม รวมไปถึงทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้คำปรึกษา และเป็นที่ปรึกษาเฉพาะในการเป็น Coach แบบ Intensive Coaching เพื่อขับเคี่ยวผลงานให้แหลมคมตอบโจทย์ Pain Point ต่าง ๆ ได้ตรงจุด มีประโยชน์โดยตรงกับอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งผู้สมัครและผู้ที่สนใจ
ยังสามารถเข้าเว็บไซต์การเรียนรู้ https://course.oicinsurtechaward.com เพื่อศึกษา เพิ่มเติมองค์ความรู้ และนำไปปรับใช้ในการต่อยอดและพัฒนาผลงานเทคโนโลยีด้านการประกันภัย หรือ InsurTech ได้กันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการประกวดจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย ประจำปี 2563 หรือ OIC InsurTech Awards 2020 จะเป็นการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วม การเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาค Tech Startup ให้นำเทคโนโลยีมาต่อยอดเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และให้บริการ ตลอดจนช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัยให้กับประชาชน และในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวน Tech Startup ที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ Center of InsurTech, Thailand หรือ ศูนย์ CIT (https://cit.oic.or.th) เพื่อร่วมกันสร้าง พัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย