23 ธันวาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 2/2563 โดยมีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง โดยให้กระทรวงศึกษาธิการและกรมอนามัยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาของกฎกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2561 ที่ออกตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งระบุว่า
“สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา” แก้ไขเป็น “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” และให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดให้มีระบบดูแลตรวจสอบ เพื่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้รับสิทธิในการรับการศึกษาภาคบังคับและภาคปกติอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องออกจากสถานศึกษา นอกจากนี้ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยยังได้เสนอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ในวิชาสุขศึกษา
ทั้งยังมีมติเห็นชอบให้การบูรณาการใช้เครื่องมือ Teenage Digital Platform สร้างความรอบรู้ ดูแลช่วยเหลือและส่งต่อ เพื่อให้วัยรุ่นได้รับบริการที่เหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการสังคม ซึ่งเทคโนโลยี สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยให้วัยรุ่นตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
โดยกระทรวงสาธารณสุข มี Line Official Account Teen Club ช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ทันสมัย มีแบบคัดกรองประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วยตนเอง เพื่อรับคำปรึกษา แนะนำช่องทางการช่วยเหลือที่สะดวก รวดเร็ว ตรงความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
“ขอให้หน่วยงานปรับบริการให้เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ลดขั้นตอนการบริการ เพิ่มการใช้เทคโนโลยี เช่น Telemedicine เพื่อให้เข้าถึงการคุมกำเนิด การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัย รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19” นายอนุทินกล่าว