ศาลอ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ อท.3/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายพีระพงศ์ อิศรภักดี อดีต ผอ.ขสมก. เป็นจำเลยต่อแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.11ตามฟ้องโจทก์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.39 ขสมก.ได้ทำสัญญาเช่าอู่เพชรงาม และลานจอดรถยนต์กับ บ.นรินทร์ แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ จก.เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งานที่ ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ กำหนดเวลา 5 ปี ช่วง 3 ปีแรก เช่าเดือนละ 1,022,400 บาท ปีที่ 4 - 5 เดือนละ 1,124,640 บาท แต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2545 ซึ่งเป็นวันครบสัญญา จำเลยกลับทุจริต ไม่ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ทำให้ ขสมก.ต้องเช่าอู่เพชรงามต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเดือนละ704,880 บาท รวม 1 ปี เป็นเงิน 8,458,560 บาท ทำให้ บ.นรินทร์ ฯ ได้รับประโยชน์มิควรได้ โดยจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานจากการไต่สวนและ สำนวนของ ป.ป.ช.แล้ว เห็นว่า จำเลยในฐานะ ผอ.ขสมก. ทราบว่า สัญญาเช่ามีข้อตกลงหากครบกำหนดการสิ้นสุดสัญญาเช่า แล้วไม่แจ้งบอกเลิกสัญญาก่อน 3 เดือน สัญญาเช่าจะต่ออัตโนมัติโดยอัตราค่าเช่าจะเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเดือนสุดท้ายที่มีราคาแพง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ที่มีจำเลยร่วมประชุมด้วย ได้พิจารณาถึงปัญหาการเช่าที่จอดรถของอู่แล้ว มีมติให้ดำเนินการต่อรองลดค่าเช่า หรือให้บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยกลับใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่เคารพมติที่ประชุมด้วยการแจ้งต่ออู่เพชรงามว่า จะจ่ายค่าเช่าให้เดือนละ 200,000 บาทเศษ เพื่อแสดงให้เอกชนนั้นเห็นว่าจำเลยมีอำนาจให้คุณให้โทษได้ แล้วหลังจากนั้นยังไม่ดำเนินการใดๆ กระทั่งก่อนจะสิ้นสุดสัญญาช่วง 3 เดือนสุดท้าย รอง ผอ.ขสมก. มีหนังสือกระตุ้นเตือนให้จำเลยพิจารณาแนวทางเพื่อดำเนินการดังกล่าว หลังจากที่ฝ่ายการเดินรถและฝ่ายกฎหมายและคณะกรรการพิจารณาสถานที่เช่าอู่ เคยมีหนังสือด่วนสุดให้จำเลยพิจารณาดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการเชิญตัวแทนอู่ มาพูดคุยเพื่อตกลงจะเช่าที่ตามที่ใช้จริงซึ่งเอกชนยืนยอมจะให้เช่า พื้นที่ 10,600 ตร.ม.ในเวลา 3 ปี ซึ่งจะทำให้ ขสมก. ชำระค่าเช่าได้ถูกกว่า การต่อสัญญาอัตโนมัติที่จะมีเวลานานถึง 1 ปี แต่จำเลยก็ยังไม่ตัดสินใจจนสัญญาเช่าสิ้นสุดไปแล้ว 10 วันก็ยังไม่บอกเลิกสัญญาหรือดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ทำให้ ขสมก.ต้องสูญเสียจากการที่สัญญาเช่าต่อโดยอัตโนมัติ"
การที่จำเลยทราบปัญหาดี แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ถือเป็นการกระทำผิดวิสัยทั่วไปของผู้บริหาร ไม่ใช่แค่ความบกพร่องทางหน้าที่ราชการ แต่เชื่อว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้อีกฝ่าย อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ที่จำเลยอ้างว่า ขสมก.มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ต่อนั้น จำเลยก็ต้องเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้สัญญาเช่าต่อโดยอัตโนมัติซึ่งเป็นทางเลือกที่ทำให้ ขสมก.สูญเสียมากที่สุด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นพนักงานของรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นความผิดตาม ม.11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีเหตุรอการลงโทษ