"กรมคุมประพฤติ" ผนึกกำลังอาสาสมัครคุมประพฤติร่วมคืนคนดี สร้างสังคมปลอดภัย เป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ช่วยงานจุดบริการประชาชนทั่วประเทศหวังลดอุบัติเหตุ ช่วยรณรงค์-ควบคุมเมาไม่ขับ พร้อมเฝ้าระวังผู้พ้นโทษคดีพิเศษ
นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจัดโครงการหรือกิจกรรมที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนตามนโยบาย "ยุติธรรมส่งสุขปีใหม่ มอบสุขทั่วไทย เข้าถึงบริการ" ในส่วนของกรมคุมประพฤติได้ร่วมมือกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ในการปฏิบัติภารกิจคืนคนดีสู่สัดม ด้วยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ผู้กระทำผิด พร้อมทั้งมอบโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมดี ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ ผู้กระทำผิดที่พลั้งพลาดและศาลให้โอกาสในการปรับพฤติกรรม ตลอดจนผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว โดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM มาใช้ควบคุม ติดตาม และดูแลตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center: EMCC) เพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษในพื้นที่ โดยศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน หรือศูนย์ JSOC ตามนโยบายของนายสมศักดิ์ ที่ห่วงใยในความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน จึงได้กำชับกรมคุมประพฤติ ดำเนินการอย่างเต็มกำลัง
นายวิตถวัลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 กรมคุมประพฤติ ได้กำหนดแนวทางให้สำนักงานคุมประพฤติ 117 แห่งทั่วประเทศร่วมกับหน่วยงานภาคีภายในจังหวัด การจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครคุมประพฤติ ผู้ถูกคุมความประพฤติ หน่วยงานภาคี สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น การจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยม ติดตาม ที่จุดบริการ การให้คำแนะนำหลังเกิดอุบัติเหตุ การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน การอบรมความรู้จราจรและโทษภัยแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และการทำงานบริการสังคมแบบกลุ่ม เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ที่บดบังการจราจร สำนักงานคุมประพฤติที่กำหนดแผนการจัดกิจกรรมคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3,067 คน
"นอกจากนี้ ในกรณีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ กรมคุมประพฤติมีมาตรการดำเนินการในการจำแนกความเสี่ยง หากผลการประเมินอยู่ในระดับควบคุมเข้มงวดหรือปานกลาง หรือมีประวัติการกระทำความผิดคดีขับรถขณะเมาสุรา ให้ส่งไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และหากเห็นสมควรอาจเสนอศาลให้เพิ่มเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามความเหมาะสม เช่น การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานบริการสังคม"นายวิตถวัลย์ กล่าว