เมื่อเร็วๆนี้ทางรัฐบาลจีนโดยองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานไทย
โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาเป็นเวลาช้านาน มีความใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของบุคคลสำคัญในระดับรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้เติบโตขยายตัวเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมความร่วมมือในหลายมิติ อาทิ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ ภายใต้กรอบแนวคิดของจีนในการพัฒนาเส้นทางสายไหม (Silk Road – Economic Belt) ทั้งทางบกและทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นเส้นทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายของไทยในการสร้างเสริมเครือข่ายการขนส่งเพื่อที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอีกด้วย
Mr. Sun Huashan รัฐมนตรีช่วยประจำองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน (State Administration of Work Safety - SAWS) สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมาเยือนไทย และได้เข้าพบผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างกัน ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับ องค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน ต่อมา Mr. Ning Fukui เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เข้าพบคารวะ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดยได้มีการหารือประเด็นความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้เน้นในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว ที่จะขับเคลื่อนให้มีการลงนามระหว่างกันต่อไป
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๙ นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางเข้าพบหารือแลกเปลี่ยนกับ Mr. Sun Huashan รัฐมนตรีช่วยประจำองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน (SAWS) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือแลกเปลี่ยนมุ่งเน้นประเด็นการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ซึ่งในส่วนของจีน ได้มี SAWS เป็นหน่วยงานระดับกระทรวงที่ขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐ (State Council) มีบทบาทด้านนโยบาย การบริหารจัดการ และขับเคลื่อนงานความปลอดภัยฯ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญและประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยฯ ปัจจุบันอยู่ในช่วงของแผนฯ ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนางานศึกษาวิจัย คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อป้องกันการประสบอันตราย รวมถึงโรคจากการทำงาน นอกจากนี้ ยังเน้นประเด็นด้านความปลอดภัยทางการจราจร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของภูมิภาค ซึ่งประเทศจีนยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีทางวิชาการด้านความปลอดภัยฯ กับประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อธิบดีฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของประเทศไทย ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนงานมุ่งสู่มาตรฐานระดับสากล โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๗ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแผนแม่บทความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ฉบับที่ ๒ อีกทั้งยังได้มีการริเริ่มโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) อันมี ๖ กระทรวงร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการ และกำลังจะขยายเพิ่มขึ้นอีก ๔ กระทรวง รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เนื่องจากปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักของไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยกระดับเข้าสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐ อีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของไทย จะได้มีการประสานความร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจฯ ที่จัดทำขึ้นนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดีร่วมกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตในภาพรวมของแรงงานและประชาชนทั้งสองประเทศ
จากนั้น อธิบดีฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (MOU for the Technical Cooperation in Occupational Safety and Health) ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับองค์กรภาครัฐว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน (SAWS) ซึ่งมี Mr. Ou Guang อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (อยู่ภายใต้ SAWS) เป็นผู้แทนในการลงนาม และมี Mr. Sun Huashan รัฐมนตรีช่วยว่าการ SAWS เป็นสักขีพยาน ท่ามกลางผู้แทนจากทั้งสองฝ่าย
บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือระหว่างกันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทาง ด้านวิชาการ สนับสนุนทุนฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงนโยบาย/ยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานความปลอดภัยฯ ของประเทศไทย โดยจะมีการขับเคลื่อนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกัน ครอบคลุมในประเด็นดังนี้
สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน +3 โดยมี SAWS เป็นภาคีสนับสนุนภายใต้เครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN-OSHNET) และได้เริ่มมีบทบาทในการส่งเสริมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของประเทศในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะได้จัดสรรทุนให้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดินทางไปรับการฝึกอบรมทางวิชาการ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยฯ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีต่อไป
คณะผู้แทนไทยฯ ได้เข้าหารือและศึกษาการดำเนินงานของสถาบันวิทยาการและเทคโนโลยีความปลอดภัยในการทำงาน (China Academy of Safety Science and Technology หรือ CASST) เป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของ SAWS มีบทบาทสำคัญในเชิงวิจัยและพัฒนาวิชาการ มุ่งเน้นการป้องกัน คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน พัฒนามาตรฐาน รวมถึงการกำกับ ตรวจติดตามในเชิงเทคนิค และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนให้บริการคำปรึกษาแนะนำ และความร่วมมือกับต่างประเทศ
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เข้าหารือและศึกษาการดำเนินงานศูนย์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (National Center for Occupational Safety and Health - NCOSH) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของ SAWS รับผิดชอบเน้นด้านศึกษาวิจัยเพื่อการป้องกัน อันรวมถึงการตรวจวัด เก็บตัวอย่างจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการวิเคราะห์เพื่อประเมินอันตราย นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลเพื่อให้บริการตรวจรักษา และมีศูนย์ฟื้นฟูลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ คณะฯ ได้เข้าศึกษาดูงาน Beijing Urban Construction Group (BUCG) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่ มีการจัดการด้านความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันอันตรายจากการทำงาน โดยจัดมาตรการเชิงป้องกันที่มุ่งเน้นทางด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่ปลอดภัยการฝึกอบรมให้ความรู้ การตรวจสอบ ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการทำงาน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในด้านสวัสดิการแรงงาน โดยมีการจัดที่พักและอาหารให้กับลูกจ้างอย่างครบถ้วนอีกด้วย
การหารือแลกเปลี่ยนและลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ต้อนรับและให้การดูแลอย่างดียิ่ง และได้หารือแลกเปลี่ยนในประเด็นด้านต่างๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ที่จะช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านดังกล่าวของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น