โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
แผนพัฒนาฯ ของพญามังกร
ปี 2564 เป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของไทย ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยรัฐบาล คสช.ให้นำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักยึดต่อเนื่องจากเดิม และจัดทำบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่รัฐบาลทหารขีดเส้นให้ประเทศไทยเดินหน้าในระยะยาว
ช่วงปีแรกๆ ทีมเศรษฐกิจของ คสช. ปั้นฝันคนไทยทั้งประเทศว่า จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ THAILAND 4.0 หรือเศรษฐกิจทันสมัย เพื่อรองรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ประกาศทุ่มงบพัฒนา 1.5 ล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดความสำเร็จของ “แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก” หรือ Eastern Seaboard ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่นและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากว่า 3 ทศวรรษ
แผนฯ12 ของไทย ผ่านมา 4 ปี แต่แทบไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจากการปั่นราคาที่ดินภาคตะวันออก และเมื่อทีม “4 ยอดกุมาร” ต้องถอนยวงออกไปพร้อมกุนซือเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ความฝัน THAILAND 4.0 จึงยังเป็นแค่ 0.4 THAILAND ONLY เมื่อคนไทยยังแห่แหนไปกราบไหว้ “ไอ้ไข่” หรือยังขูดเลขขอหวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุก 15 วัน จากอิทธิพลการมอมเมาประชาชนว่า อาจจะรวยชั่วข้ามคืน
ยิ่งปี 2563 ต้องมาเจอการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากต้นปีถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยต้องสะดุดหัวทิ่มแทบไม่เป็นขบวนเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหดหาย ลมหายใจที่ฝากไว้กับอาตี๋อาหมวยและฝรั่งมังค่า จึงออกอาการรวยรินเหมือนใจจะขาดรอนๆ รัฐบาลไทยต้องอาศัยวิชา “ซื้อเวลา” เปิดคลังจ่ายเงินเยียวยา และอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดแคมเปญจ่ายคนละครึ่งให้คนไทยออกมากินออกมาเที่ยว เพื่อกระจายเงินสู่ระดับรากหญ้าที่กำลังจะอดตายให้ผ่านพ้นปีนี้
โดยสร้างความหวังว่า ปีหน้าจะมีวัคซีนมาหยุด COVID-19 แล้วความเดือดร้อนจะบรรเทาเบาบางลง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะบรรลุเป้าหมายหรือล้มเหลวแค่ไหนไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ ไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการ เพราะคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด พอจบแผนเก่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็งัดแผนใหม่ขึ้นมาเสนอรัฐบาล แค่ให้รัฐบาลมีอะไรอ้างอิงและยึดเกาะเป็นหลัก แต่เวลาปฏิบัติจริงแต่ละพรรคการเมือง แต่ละกระทรวงก็ต่างคนต่างทำ
เทียบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จะเห็นความแตกต่างและคำตอบของการพัฒนาประเทศ เพราะสำหรับจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน ทุกหน่วยงานต่างยึดแผนพัฒนาฯ ที่รัฐบาลกลางประกาศใช้ เสมือนคู่มือปฏิบัติงานที่ต้องทำให้บรรลุเป้า
ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ของจีนที่สิ้นสุดลงในปีที่ผ่านมาว่า ได้รับการประเมินว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กำลังรวมของจีนได้ยกระดับสูงขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจได้รับการปรับเปลี่ยนมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะทะลุ 100 ล้านล้านหยวน ( 500 ล้านล้านบาท) ประชากรชาวชนบทที่มีความยากจนกว่า 55.75 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจนได้
แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสและความท้าทายคือ สถานการณ์โลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จีนต้องคว้าโอกาส เตรียมรับมือกับความท้าทาย และมุ่งมั่นพัฒนา โดยใช้จุดแข็งหลีกเลี่ยงจุดอ่อน
เข้าสู่ปี 2021 คือปีแรกของแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (2021-2025) ฉบับที่ 14 ของจีน ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญจากที่เคยเน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาเป็นการสร้างความเติบโตแบบยั่งยืน จากการพัฒนาเชิงปริมาณเป็นการพัฒนาอย่างสมดุลในเชิงคุณภาพ
ในแผนฯ 14 มีศัพท์ใหม่ที่จีนหยิบยกมาพูดถึงมากว่า Dual Circulation หรือ “ยุทธศาสตร์วงจรคู่” หมายถึงจีนได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแกนหลัก เพิ่มชนชั้นกลางภายในประเทศเพื่อสร้างการบริโภคภายใน ขณะเดียวกันก็ยังคงขยายการเชื่อมโยงเศรษฐกิจออกสู่ภายนอกประเทศ
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ได้ถอดรหัสแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีนไว้ว่า “ตลาดภายในของจีน เป็นหัวใจของแผนพัฒนาฉบับใหม่ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์จีนเชื่อมโลกรอบใหม่อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ รายละเอียดนโยบายการพัฒนารอบใหม่ของจีนจึงต้องตอบโจทย์การขยายอุปสงค์ (demand) ภายในประเทศและปลดปล่อยพลังการบริโภค ด้วยการเดินหน้าสร้างและเชื่อมโยงเมือง แก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อเพิ่มจำนวนชนชั้นกลาง ยกระดับรายได้และพัฒนาสวัสดิการให้แก่ประชาชน ทั้งหมดก็เพื่อส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยและบริโภค”
เช่นเดียวกับ ขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่มองว่า วงจรในประเทศคือการส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศ โดยเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังชะลอตัว
“แนวนโยบายในการผลักดันคาดว่า จะเน้นขยายความเป็นเมืองออกไปในพื้นที่ชนบทและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนมากขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของประชากรในชนบทที่มีจำนวนกว่า 700 ล้านคน ซึ่งรวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ก้าวสู่การเกษตรดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการสร้างช่องทางการค้าผ่าน E-Commerce ด้วยการเร่งเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทให้ได้ราว 70% ภายในปี 2568 จากระดับ 46.2% ณ เดือนมีนาคม 2563
การปรับโครงสร้างอุปทาน โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้จีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่จีนกำลังเผชิญการกีดกันอย่างรุนแรง โดยจีนจะมุ่งส่งเสริมการสร้างสายการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ตลอดจนเร่งส่งเสริมการลงทุนตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ”
นั่นคือจุดหมายปลายทางของแผนฯ 14 ของพญามังกร