นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษหมอกควัน เกิดอันตรายด้านสุขภาพอนามัย ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม และการท่องเที่ยว ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมไฟป่าอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ ซึ่งฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควันอย่างมาก และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เราจึงมีมาตรการ “ชิงเก็บก่อน” คือ การเก็บเศษใบไม้ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ หรือนอกเขตป่า โดยร่วมบูรณากับทุกภาคส่วนและชุมชนในพื้นที่สามารถนำเศษใบไม้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น นำเอาใบไม้ไปบดอัดและเผาจนกลายเป็นถ่านอัดแท่ง หรือนำไปแปรรูปเป็นสินค้าชนิดๆ อื่น ขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทห้างร้านเอกชนเข้ามาขอซื้อเศษวัสดุ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถนำไปขายสร้างรายได้ได้ ขณะเดียวกันเราก็สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าไปด้วย
นายวราวุธ ย้ำว่า หากทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า สามารถเก็บเชื้อเพลิงได้อย่างน้อยจังหวัดละ 100 ตันก่อนช่วงจะเกิดไฟป่า ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เชื่อว่าจะลดปัญหาการเกิดไฟป่า ลดปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ และจะสามารถลดการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ตามเป้าหมายแน่นอน อีกทั้งยังสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาป่ามาสู่การใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานในการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้เตรียมพร้อมในทุกมิติของการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุม ไฟป่า ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมไฟป่า และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ จึงได้จัดโครงการลดปริมาณเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยจัดกิจกรรมพร้อมกันใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก และพิษณุโลก
นายอดิศร กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า กรมป่าไม้ได้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงใน 2 ระบบ คือ โมดิส (MODIS) และระบบเวียร์ (VIRS) มาวิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง หากพบว่าพื้นที่ใดมีเศษวัสดุมีจำนวนมาก ก็จะให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปชิงเก็บเศษวัสดุก่อนเกิดช่วงไฟป่า นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังดำเนินการมาตรการเชิงรุกด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การป้องกัน และควบคุมไฟป่าให้ประสบความสำเร็จ และเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของไฟป่า เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ เกิดความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไฟป่า ชุมชนสามารถนำเชื้อเพลิงจากป่ามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างจริงจังในช่วงวิกฤต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า และช่วยให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าประสบผลสำเร็จ ทันต่อสถานการณ์
ทั้งนี้ ภายในงาน กรมป่าไม้ได้สาธิตกิจกรรมต่าง เช่น การเก็บขนใบไม้ กิ่งไม้แห้งที่ร่วงหล่นในพื้นที่ป่าแล้วนำมาเข้าเครื่องอัดใบไม้ เครื่องบดสับใบไม้กิ่งไม้, การขนส่งใบไม้อัดแท่งออกจากพื้นที่ป่าโดยใช้โดรน, การจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ โดยทำแนวกันไฟ (Firebreak) ในพื้นที่ป่าระยะทางประมาณ 500 เมตร