คปภ. “ส่งสัญญาณ” ธุรกิจประกันภัย รับมือ IFRS17 •ผ่านโครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงรายละเอียดแบบสอบถามโครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ รวมถึงตอบประเด็นซักถามต่าง ๆ ที่บริษัทประกันภัยอาจมีต่อแบบสอบถามโครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่องสัญญาประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลที่จะเปลี่ยนไปจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS17) มาใช้ปฏิบัติ โดยมีผลบังคับในปี 2567 ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีความซับซ้อน และวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่มีความแตกต่างจากในปัจจุบัน เช่น การวัดมูลค่าหนี้สินและรับรู้รายได้ของสัญญาประกันภัย เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจประกันภัยในการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย มาใช้ปฏิบัติ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และคณะทำงานย่อยรองรับประเด็นจากข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 17 โดยแบ่งคณะทำงานย่อยออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานย่อยด้านสัญญาประกันภัยและการวัดมูลค่า คณะทำงานย่อยด้านความเสี่ยงสมมุติฐาน และการประกันภัยต่อ คณะทำงานย่อยด้านนโยบายบัญชีและการเปิดเผยข้อมูล และคณะทำงานย่อยด้านผลกระทบทางภาษี ซึ่งขอบเขตของแต่ละคณะจะเกี่ยวข้องกับประเด็นตามข้อกำหนดของมาตรฐานที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ เพื่อให้การเตรียมความพร้อมและการรับมือผลกระทบเป็นไปอย่างรอบคอบและครบถ้วน สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ประเมินความพร้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำมาตรฐานมาใช้ปรับปรุงรูปแบบงบการเงินและรายงาน
ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตลอดจนหาแนวทางการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย แนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล และแนวทางการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินบริษัทประกันภัย โดยมีบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการ โดยได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดและสื่อสารทำความเข้าใจ ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งจัดทำแบบสอบถาม เพื่อใช้สำรวจความพร้อมในแต่ละด้านของบริษัทประกันภัย เช่น นโยบายของผู้บริหาร ความรู้ความเข้าใจของบุคคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานะการเตรียมความพร้อม และประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทประกันภัย รวมถึงข้อเสนอแนะและความกังวลที่บริษัทประกันภัยมีต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับดังกล่าว โดยแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการประเมินความพร้อมของบริษัทประกันภัยต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย หรือ Gap Analysis และส่วนที่ 2 เป็นการประเมินผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทประกันภัยในการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย หรือ Impact Analysis โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายต่าง ๆ รวมถึงจัดทำแนวทางและมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัย ตลอดจนเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการหารือร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย เกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ในประเทศไทยต่อไป
“สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและมีความซับซ้อน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทประกันภัยเข้าใจเจตนารมณ์ และสามารถตอบแบบสอบถามได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลผล เพื่อประเมินความพร้อมและผลกระทบของบริษัทประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย