กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,150 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีผลดังนี้ความเห็นต่อการใช้ มาตรา 44 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชน ร้อยละ 63.4 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ความจริงปรากฏเร็วขึ้น (ร้อยละ32.9) และทำให้การดำเนินคดีมีความคืบหน้าเร็วขึ้น (ร้อยละ 30.5) ขณะที่ร้อยละ 36.6 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีไปตามกระบวนการมากกว่า (ร้อยละ 25.4) และเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง (ร้อยละ 11.2)
สำหรับความเห็นต่อการออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์กว่า 2 หมื่นล้าน จากผู้กระทำผิดโครงการรับจำนำข้าวในส่วนการซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี ประชาชนร้อยละ 44.2 ระบุว่าควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่น นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ รองลงมา ร้อยละ 27.7 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค้าแล้ว และร้อยละ 14.8 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่น้อยไปเมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าผลจากการดำเนินคดีว่าจะมีการสร้างความปั่นป่วนหรือการปลุกระดม จากกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจคำสั่งทางการปกครองประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.6 ระบุว่าไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุว่ากังวล
ด้านความเห็นต่อการดำเนินคดี โครงการรับจำนำข้าวว่าส่งผลต่อนักการเมืองและข้าราชการให้หยุดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างมาก รองลงมาร้อยละ 23.5 เห็นว่าส่งผลมาก และร้อยละ 21.6 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อย ส่วนความเห็นต่อ การดำเนินคดี โครงการรับจำนำข้าวว่าส่งผลอย่างไรกับสังคมไทยนั้น ประชาชน ร้อยละ 35.3 ระบุว่าทำให้นักการเมืองตระหนักถึงความสุจริตในหน้าที่ รองลงมาร้อยละ 30.6 ระบุว่าทำให้ประชาชนคิดว่ากฎหมายสามารถเอาผิดนักการเมืองได้จริง และร้อยละ 21.9 ระบุว่าจะได้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการเมืองไทย