วันนี้ (วันที่ 6 มกราคม 2564 ) เวลา 10.00 น. พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ได้ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ซึ่งในอยู่ความรับผิดชอบของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคนา 2019 (COVID -19) ระลอกแรกที่ผ่านมานั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดพื้นที่เฝ้าระวังและจัดบุคลากรในการดูแลได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในปัจจุบันเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคนา 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่และถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรีที่พบการติดเชื้อขยายเป็นวงกว้าง กองทัพเรือจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งให้การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคนา 2019 (COVID -19) กรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่จังระยอง ชลบุรี และจันทบุรี โดยใช้สถานที่ของกองทัพเรือที่ห่างไกลจากชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ที่จัดตั้งขึ้นนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกของศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว โดยใช้อาคารฝึกที่ 13-16 สำหรับเป็นที่พักผู้ป่วย และอาคารฝึกที่ 2 เป็นอาคารอำนวยการสำหรับเจ้าหน้าที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 320 เตียง ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพเรือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและรองรับผู้ป่วยกรณีโรงพยาบาลหลักของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี เกินขีดความสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรงให้มาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่อง จนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้น ก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ ใน 3 แห่งซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 726 เตียง ประกอบด้วย
1. โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 320 เตียง
2. โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 174 เตียง
3. โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 232 เตียง
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ทั้ง 3 แห่งนี้ จะใช้ในกรณีการระบาดของโรค COVID-19 ในวงกว้าง มีความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งระบบบริการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patients under investigated : PUI) ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ตั้งแต่ การคัดกรองผู้ป่วย การให้การวินิจฉัย การดูแลรักษาแบบ One Stop Services รวมถึงเพื่อให้สามารถรับผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแต่ต้องกักกันโรคต่อ หรือผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน (เฉพาะกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง จำนวนผู้ป่วยเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่กำหนดไว้)
ทั้งนี้ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้กรมแพทย์ทหารเรือ จัดเตรียมโรงพยาบาลหลัก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาลต่อผู้ติดเชื้อ COVID-19 ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าและโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำหรับตรวจวินิจฉัยและรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และโรงพยาบาลเฉพาะโรค 2 แห่ง คือโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพและโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ นอกจากนั้นยังให้หน่วยกองทัพเรือในพื้นที่ต่าง ๆ จัดพื้นที่ควบคุมเพื่อเฝ้าระวัง หรือ State quarantine ดังนี้
1. พื้นที่กรุงเทพฯ จัดที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
2. พื้นที่สัตหีบ จัดที่อาคารรับรองกองทัพเรือพื้นที่สัตหีบ และ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
3. พื้นที่จังหวัดจันทบุรี จัดที่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
4. พื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 จัดที่ฐานทัพเรือสงขลา
5. พื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 จัดที่ฐานทัพเรือพังงา พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จัดที่ค่ายจุฬาภรณ์
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ