ศบค.ออกมาตรการเข้ม ใครติด COVID-19 เมินติดตั้งแอปฯ “หมอชนะ” มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมเปิดมาตรการ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวด เดินทางเข้า-ออกต้องมีใบอนุญาต
7 ม.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยวันนี้ ซึ่งนอกจากพบผู้ติดเชื้อใหม่ 305 และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมสะสม 67 คน แล้ว นายกรัฐมนตรีได้ลงนามข้อกำหนด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ประกาศ ณ วันที่ 6 ม.ค.2564 โดยมี 3 ข้อได้แก่ 1.ยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค 2.ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง และ 3.ปราบปรามและ ลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค
นอกจากนี้ ยังระบุถึงการการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคว่าต้องมีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยต้องมี "หมอชนะ" ควบคู่กับการใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ"
“ต่อไปนี้ หากพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ในโทรศัพท์ จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
สำหรับคนที่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) ต้องแสดงเหตุผลและบัตรประชาชน ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ เว้นแต่บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ศบค.มท.กำหนด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อที่ 3 การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค ให้ดำเนินการปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานข้ามชาติ ละเลยให้มีการเปิดบ่อนการพนัน โดยกำชับเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“ขอความร่วมมือประชาชนช่วยตรวจสอบ หากพบการกระทำผิด ให้แจ้งเบาะแสมาที่นายกรัฐมนตรีผ่าน ศบค.ทำเนียบรัฐบาล หรือโทรสายด่วน 1111 เพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้ส่งโทรสารในราชการ โดยสั่งการให้จังหวัดตั้งจุดตรวจในเส้นทางหลักพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด พร้อมตั้งจุดตรวจในเส้นทางรอง พร้อมขอให้ประชาสัมพันธ์เพื่อขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทาง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
สำหรับ 5 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องมีการปฏิบัติเพิ่มเติม 5 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการผู้เดินทาง 2.สอบถามเหตุผลและสถานที่ปลายทางให้ชัดเจน 3.ตรวจสอบการใช้แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" 4.ตรวจสอบเอกสารรับรองความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ และ 5.บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง
ส่วน 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องมีการปฏิบัติเพิ่มเติม 4 ข้อ เหมือนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่ต้องตรวจสอบการเอกสารรับรองความจำเป็น และอีก 49 จังหวัดที่เหลือปฏิบัติเพิ่มเติม 2 ข้อ คือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการเดินทาง
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงคลัสเตอร์บ่อนไก่ จ.นนทบุรี ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง ดังนั้น จะมีการกระจายอยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี รวม 88 คน ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสอบสวนโรค
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีวัคซีน COVID-19 ว่า ไม่ได้มีการปิดกั้นใดๆ แต่การซื้อเทคโนโลยีมาด้วย จะทำให้ความรู้มาเกิดกับคนไทยแต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงมีการซื้อโดยรัฐเข้ามาและมีการแชร์ความเสี่ยงมาที่ชาติตะวันตกจากจีนด้วย ไม่ใช่รอเพียงสหราชอาณาจักรเพียงอย่างเดียว โดยภาคเอกชนส่วนอื่นๆ สามารถนำเข้าได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แม้ FDA จะรับรองในสหรัฐฯ แต่ก็ต้องมารับรองในประเทศไทยด้วยเรื่องนี้ไม่ได้ปิดกั้น แต่จะโฆษณาเพื่อจองกันก่อน โดยไม่ขออนุญาตทำไม่ได้
สำหรับโรงพยาบาลสนาม ตอนนี้เห็นภาพที่สมุทรสาคร ตัวเลขขึ้นมาเป็น 3,000-4,000 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการประมาณ 80% อัตราการแพร่กระจายก็จะต่ำกว่า ดังนั้น การมาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม นอนเรียงกันเหมือนโรงนอน ใช้พื้นที่อะไรก็ได้เพื่อนอนรวมกัน ใช้บุคลากร 1 คน ดูแลคนเป็นสิบหรือเป็นร้อย เพื่อประหยัดทรัพยากร เพื่อให้พื้นที่ผู้ป่วยที่ต้องการพื้นที่เตียงและห้องแยกโรคที่มี 10% ที่อาการหนัก และมี 1-2% ที่มีโอกาสเสียชีวิต