นายอรรถพร วัฒนวิสุทธิ์ รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีรับมอบระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน (Dam Safety Remote Monitoring System : DS – RMS) หรือ “ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน” จาก ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยระบบตรวจวัดฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ กฟผ. และเนคเทค ตั้งแต่ปี 2557 ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับเทคโนโลยีของเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน มาพัฒนาบูรณาการใช้กับความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนใหญ่ของ กฟผ. 14 เขื่อนทั่วประเทศ ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขื่อน
รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน หรือ DS – RMS ได้รับการพัฒนาให้สามารถสื่อสารข้อมูลจากเครื่องมือวัดต่างๆ แบบอัตโนมัติ ทั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน แผ่นดินไหว และน้ำหลาก ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำ ไปยังระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย แล้วนำข้อมูลเข้ามาประมวลผลหาสถานะความปลอดภัยเขื่อนด้วยระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ที่จะช่วยคาดการณ์สาเหตุของความผิดปกติได้ โดยจะแจ้งสถานะความปลอดภัยเขื่อนผ่านโปรแกรมในรูปแบบ Web Application ทางเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น และแจ้งเตือนผ่านทาง SMS และ E-mail ไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบถึงความผิดปกติของเขื่อนได้ ทำให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถแจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้บริหาร กฟผ. ได้รับรู้ และสื่อสารให้สาธารณชนได้เข้าใจไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเขื่อนของ กฟผ. ว่ามีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ
รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. และ เนคเทค ร่วมกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโปรแกรมแสดงผล โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำปรึกษาในการจัดทำเกณฑ์การแจ้งเตือนความปลอดภัยเขื่อน และพัฒนาระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการพิจารณาและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อนของไทย ซึ่งการพัฒนาระบบตรวจสุขภาพเขื่อนในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นอย่างมีศักยภาพ
ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวในตอนท้ายว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันนี้ เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมและสร้างอุปกรณ์ใหม่เสริม พร้อมพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งทีมวิจัยและพัฒนาเชื่อมั่นว่า ระบบจะสามารถตอบสนองต่อการเฝ้าระวังและการตรวจสอบสุขภาพเขื่อนได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปปรับใช้กับเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต