นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ได้สนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยการสนับสนุนการใช้แอพพลิเคชันหมอชนะ โดยไม่คิดค่าดาต้าเมื่อประชาชนใช้แอพพลิเคชันหมอชนะ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันหมอชนะแล้วจำนวน 6.34 ล้านคน ซึ่งเบื้องต้นรองรับได้ 30 ล้านคน และสามารถขยายการใช้งานได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระประชาชนในการใช้งาน โดยโอเปอเรเตอร์ทุกราย ร่วมใจกันสนับสนุนให้ใช้งานแอพพลิเคชันหมอชนะฟรี ไม่คิดค่าดาต้าเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันนี้ (11 มกราคม 2564)
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันหมอชนะ มีคุณสมบัติสำคัญหลายประการทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อาทิ มีการถ่ายภาพผู้ใช้งานเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ใช้งานจริง สามารถติดตามเส้นทางของผู้ใช้แอพพลิเคชัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้กรมควบคุมโรคใช้ประกอบในการสืบสวนโรค และใช้ในการค้นหาว่าผู้ใช้แอพพลิเคชันรายใดอยู่ในสถานที่เสี่ยงในช่วงวันและเวลาร่วมกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้ส่งข้อความแจ้งเตือน
ขณะที่ แอปพลิเคชันหมอชนะ จะเก็บภาพถ่ายของผู้ใช้งานไว้ที่เครื่องของผู้ใช้งานเท่านั้น จะไม่มีการภาพถ่ายไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางของระบบแต่อย่างใด ในกรณีที่โทรศัพท์มือถือไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแอพพลิเคชันจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางไว้ในโทรศัพท์มือถือก่อน เมื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้วจึงจะส่งข้อมูลไปจัดเก็บที่ระบบส่วนกลาง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ และอื่นๆ ในแอพพลิเคชันและระบบ
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เริ่ม 15 มกราคม 2564 ได้ข้อสรุปดังนี้
1.กรณีการใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกซ์บรอดแบนด์) หรือเน็ตบ้าน ผู้ประกอบการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกซ์บรอดแบนด์) โดยปรับเพิ่มความเร็วขึ้นไม่ต่ำกว่า 100/100 เมกะบิต สำหรับผู้ใช้บริการที่ใช้บริการในโครงข่ายไฟเบอร์ และเพิ่มความเร็วให้เต็มขีดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ เช่น xDSL เป็นเวลา 2 เดือน
2.กรณีการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบายบรอดแบนด์) ปัจจุบันผู้ประกอบการได้มีการออกแพ็คเกจเสริมในการสนับสนุนการเวิร์กฟรอมโฮมอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม จึงมีความร่วมมือในการออกแพ็คเกจเสริมพิเศษ ในราคา 79 บาทต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ใช้งานได้ 30 วัน เป็นเวลา 2 เดือน ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (อันลิมิตเต็ด ดาต้า) ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 10 เมกะบิต เพื่อรองรับการใช้งานแอพพลิเคชันเวิร์กฟรอมโฮมต่างๆ เช่น Microsoft Teams 365, ZOOM (ค่าบริการไม่รวมค่า license ในการใช้งานแอปพลิเคชัน) เป็นต้น