กระทรวงเกษตรฯ เล็งขึ้นทะเบียนใบอนุญาตรับจ้างเกี่ยวข้าว-ไถนา-หว่านปุ๋ย ป้องกันโก่งราคาสร้างมาตรฐานตรวจสอบย้อนกลับได้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาคบริการด้านการเกษตรปี 2563 ติดลบ 1.5% กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเตรียมปรับโครงสร้างบริการด้านการเกษตรจากการใช้แรงงานคน หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ทั้งนี้ จากแรงงานด้านการเกษตร หากไม่รวมบริการด้านการเกษตรที่รับจ้างในแรงงาน เบื้องต้นประมาณจากภาคเกษตรทั่วประเทศมีประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ตามจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ และหากรวมแรงงานต่างชาติที่เข้ามารับจ้างทำเกษตร อาทิ ทำงานในสวนกล้วยไม้ ทำประมง ในเรือประมง เป็นต้น อีกประมาณ 4 ล้านคน
นอกจากนี้ เกษตรกรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนแรงงานและเกษตรกรก็ลดปริมาณลง กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องดำเนินการให้มีอาชีพบริการด้านการเกษตรอย่างถูกต้องอยู่ในระบบ จึงต้องมีการขึ้นทะเบียนตามประเภทการทำเกษตร มีการกำหนดอัตราค่าจ้าง ซึ่งคำนวณจากต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดมาตรฐาน ไม่มีการโก่งราคาจากแรงงาน หรือผู้รับจ้างกรณีแรงงานมีน้อย และไม่มีการกดราคาจากผู้จ้าง กรณีมีแรงงานจำนวนมาก
บริการด้านการเกษตรมีอัตราที่ลดลง เนื่องจากเกิดการขาดแคลนแรงงานเกษตรมีทั่วประเทศ เช่น เกี่ยวข้าว ไถนา แต่บางจังหวัดมีน้อย บางจังหวัดมีมาก ที่สุดในอนาคตต้องมีการนำเครื่องจักกลด้านการเกษตรมาใช้ อาทิ โดรนฉีดพ่นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เกษตรกรสมัยเกี่ยวอาจทำไม่ได้ จึงต้องมีมืออาชีพดำเนินการให้ ผ่านบริการด้านการเกษตรประจำตำบล ประจำอำเภอ ที่มีเกษตรตำบลและอำเภอประจำอยู่
แนวโน้มอาชีพบริการด้านการเกษตรต้องเพิ่มขึ้น เพราะต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญ รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้มีการทำการเกษตรแปลงใหญ่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เครื่องจักรการเกษตรมาช่วยอาชีพไถพรวนดินโดยใช้เครื่องจักร ต้องอบรมการใช้เครื่องจักร อาชีพเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักร ต้องอบรมการใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าว อาชีพหว่านปุ๋ยเคมี โดยใช้เครื่องจักร ก็ต้องอบรมการใช้เครื่องพ่น หว่านปุ๋ย เป็นต้น ดังนั้น อาชีพบริการด้านการเกษตรเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีใบอนุญาต