รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมกาวิทยาลัยได้รับหนังสืออนุญาตผลิต ปลูกกัญชง ตามหนังสือสำคัญที่ 19/2563 สามารถปลูก เก็บเกี่ยว แปรสภาพได้อย่างถูกกฎหมาย ทีมงานนักวิจัย มข. โดยคณะเกษตรศาสตร์ จึงกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกกัญชงขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ราบสูง (องค์กรมหาชน) 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 1 อาร์พีเอฟ 3 และ อาร์พีเอฟ 4 โดยสายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 1 และ 3 นั้น ใช้สายพันธุ์ละ 2 กิโลกรัม สายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 4 ทดลองปลูก 50 เมล็ด นักวิจัยได้เพาะพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 กว่า 700 ต้น ครบกำหนดย้ายลงแปลง ซึ่งต้นกัญชงทั้งหมดใช้เวลา120-150 วัน จะผลิตดอก เมื่อครบกำหนดเก็บเกี่ยวดอกเพื่อนำไปวิจัย ประเมิน และพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
"มหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีการวางระบบให้ครบวงจร ทั้งการปลูก การครอบครอง การสกัด และการทดลอง ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมายังได้ให้ภาควิชา คณะต่างๆได้มาบูรณาการนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านมาศึกษาวิจัยร่วมกัน มีทั้งการปลูก การสกัดสาร การทำยา เครื่องสำอาง และการรักษาโรค หากการลงแปลงแล้วมีการคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่เหมาะกับการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ทางมหาวิทยาลัยวางแผนในการผลักดันทำให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของอีสานในอนาคต"
สำหรับการดำเนินงานตามขั้นตอนกัญชงลงแปลง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข. จะประสานทุกคณะร่วมกันวิจัยและต่อยอดต้นกัญชงให้สามารถใช้งานได้ทั้งต้น โดยมีการกำหนดแผนงานวิจัยพืชกัญชงและกัญชาแบบบูรณาการ เริ่มตั้งแต่คณะเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยด้านการปลูก ปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยสกัดน้ำมันกัญชงและกัญชา ทำการวิเคราะห์สารองค์กรประกอบสำคัญ คณะเภสัชศาสตร์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมรูปแบบขนาดผลิตภัณฑ์ยา เพื่อส่งต่อให้ทีมคณะแพทยศาสตร์ เพื่อนำไปวิจัยด้านคลินิกผู้ป่วยเฉพาะโรค เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่รักษาเฉพาะโรคหรือเฉพาะรายบุคคล ขณะที่ทีมสัตวแพทย์มีการศึกษาวิจัยด้านการนำวัสดุเศษเหลือจากการศึกษาด้านต่าง ๆแล้วไปพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตามสำหรับแปลงทดลองปลูกต้นกัญชงแปลงแรกในภาคอีสานนั้นจะปลูกในพื้นที่โล่ง มีการใช้ต้นทานตะวันเป็นตัวดักแมลง