ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
เร่งล่า "ขบวนการนำพา" แฉเส้นทางโรฮิงญา "เปลี่ยนรถ-ซุกบ้านเช่า"
14 ม.ค. 2564

เร่งล่า "ขบวนการนำพา" แฉเส้นทางโรฮิงญา "เปลี่ยนรถ-ซุกบ้านเช่า"

สถานการณ์โควิดที่ชายแดนใต้ แม้จะยังไม่มีการระบาดแบบ "คลัสเตอร์" หรือ "กลุ่มก้อนขนาดใหญ่" แต่ชาวบ้านก็ยังหวาดผวา

ล่าสุดมีข่าวลือว่า หญิงไทย 2 คนที่ข้ามไปทำงานที่มาเลเซียแล้วติดโควิด ได้หลบหนีข้ามแดนเข้ามาฝั่งไทย แถมยังลือต่อไปว่า มีการไปปรากฏตัวที่สนามบินในพื้นที่ เตรียมบินเข้ากรุงเทพฯด้วย สร้างความหวั่นวิตกไปทั่ว

แต่ก่อนเรื่องราวจะบานปลาย "ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามไปยัง นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้รับคำยืนยันว่า หญิงไทยทั้ง 2 รายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ควบคุมตัวเอาไว้ได้แล้ว ขณะนี้ถูกส่งตัวไปยังสถานที่กักกันตัว และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด และดูอาการที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก รอผลยืนยันว่าติดเชื้อจริงหรือไม่

ช่วงนี้สถานการณ์ชายแดนไทย-มาเลเซียค่อนข้างตึงเครียด เพราะมาเลย์ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้่นถึง 3,027 รายในวันเดียว ยอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งถึง 138,224 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 555 ราย ทำให้ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียต้องประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ทั้งยังประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางใน 5 รัฐ กับอีก 3 เขตปกครองกลาง

ความเคลื่อนไหวลักลอบข้ามแดนไทย-มาเลเซียทางภาคใต้ของบ้านเรา ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่น่าตกใจคือมีทั้ง "นำเข้า" และ "ส่งออก" กล่าวคือมีคนไทยและคนต่างด้าวที่เสี่ยงโควิดลอบเข้าไทย เหมือนกับ 2 สาวไทยที่เป็นข่าวในช่วงนี้ หรือไม่ก็กลุ่มแรงงานจากประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ใช้ไทยเป็นทางผ่าน เดินทางกลับบ้นาเกิดตัวเอง กับอีกพวกคือ ชาวเมียนมา หรือโรฮิงญา ที่ลักลอบเข้าไทยทางทะเลอันดามัน แล้วเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเหมือนกัน

สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งเมียนมา และมาเลเซีย ล้วนมีการแพร่ระบาดของโควิดหนักกว่าไทย ฉะนั้นการเดินทางผ่านไทย ไม่ว่า "ขึ้น" หรือ "ล่อง" ก็ล้วนมีความเสี่ยงนำโควิดเข้ามาทั้งสิ้น

อย่างเมื่อวันก่อน เจ้าหน้าที่จับกุมชาวโรฮิงญา 9 คน ได้ในบ้านเช่าใน ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยทั้ง 9 คนมีทั้งชาย หญิง และเด็ก สอบสวนเบื้องต้น ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้อ้างว่าจะไปหาญาติในมาเลเซีย (ทั้งๆ ที่ในมาเลย์โควิดระบาดหนัก)

ที่น่าตกใจคือเส้นทางและไทม์ไลน์ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า โรฮิงญากลุ่มนี้มาจาก จ.ภูเก็ต ก็คือมาจากฝั่งอันดามัน แล้วนั่งรถโดยสารประจำทางสายภูเก็ต-สุไหงโก-ลก แต่กลับลงก่อนถึงที่หมาย คือลงรถที่สถานีขนส่งจังหวัดยะลา ถึงก่อนนราธิวาส และสุไหงโก-ลกปลายทาง จากนั้นได้เปลี่ยนไปนั่งรถตู้โดยสารแทน ลงที่ต.มูโนะ และเข้าพักที่บ้านเช่าทันที คาดว่ามีเครือข่าย "ขบวนการนำพา" แนะนำวิธีการเดินทางเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และเตรียมบ้านเช่าให้เข้าพัก ก่อนฉวยโอกาสเหมาะๆ หนีข้ามไปมาเลย์

งานนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เอาจริงเอาจังมาก เพราถือว่าจับได้คาหนังคาเขา กำลังเค้นสอบเพื่อหาตัวนายทุน และเครือข่ายขบวนการนำพา เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะการขนคนต่างด้าวและแรงงานเถื่อน มีเยอะมาก กระจายทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ แต่ไม่เคยจับใครได้ และยังไม่มีใครถูกลงโทษ

มีข้อมูลแนวชายแดนไทยในภาคใต้ ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 แบ่งเป็นไทย-เมียนมา 254 กิโลเมตร จาก ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ไปจนถึง ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีช่องทางธรรมชาติที่ลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายจำนวน 10 ช่องทาง แยกเป็นระนอง 6 ช่องทาง ชุมพร 4 ช่องทาง

อีกช่วงหนึ่งเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ความยาว 647 กิโลเมตร จาก ต.ปูยู อ.เมืองสตูล ไปจนถึง ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีช่องทางข้ามแดนผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เฉพาะริมแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส มีท่าข้ามผิดกฎหมายมากถึง 14 จุด

แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้เพิ่มชุดปฏิบัติการอีก 1 กองร้อย จำนวน 150 นาย แบ่งออกเป็น 15 ชุดปฏิบัติการ ลาดตระเวนตามแนวชายแดนด้านจังหวัดระนองจำนวน 10 ชุด และแนวขายแดนไทย-มาเลเซียอีก 5 ชุด

Cr : https://www.isranews.org/article/south-news/scoop/95000-rohingya.html

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...