ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าลงทุนในบริษัท ยูนิเวนเจอร์ บีจีพี จำกัด หรือ UVBGP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ในสัดส่วน 45% โดยเข้าร่วมลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ UVBGP จำนวน2,250,000 หุ้น ในมูลค่าหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 22,250,000 บาท โดยมี UV ถือหุ้นในสัดส่วนที่เหลืออีก 55%
การร่วมทุนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ ครอบคลุมโครงการพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยนํ้า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน โรงไฟฟ้าชีวะมวล บริการ Energy Solution และโครงการสมาร์ทกริด โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 400-500 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ UV จะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการลงทุน พัฒนา บริหารจัดการและดำเนินโครงการในด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่าน UVBGP ร่วมกับ UV
นายกำพล ปุญโสณี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV กล่าวเสริมว่า ในการผนึกกำลังครั้งสำคัญกับ BGRIM ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
“การผนึกกำลังในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ตามเป้าหมายของ UV ในการสร้าง Portfolio การลงทุนให้มีความสมดุล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต พร้อมกันนั้น ยังสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ด้าน Diversification และ Opportunistic Investment เป็นการพัฒนาต่อยอดจากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ UV มีความเชี่ยวชาญทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย, อาคารสำนักงานให้เช่า และโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ” นายกำพล กล่าว
ปัจจุบัน บี.กริม มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 48 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,058 เมกะวัตต์ โดยมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยบริษัทมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568