นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามคำถามพ่วงประชามติให้วินิจฉัยว่า สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก มีการโต้แย้งพอสมควร คือกรณีผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และผู้ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคือ ส.ส. เท่านั้น เนื่องจากเป็นความต้องการของประชาชน และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนผู้มีสิทธิ์เห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคือ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ตามที่ กรธ. ได้แก้ไขให้สอดคล้องกับผลของการออกเสียงประชามติ
ประเด็นที่สอง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้มีสิทธิ์เสนอขอยกเว้นเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมือง ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 272 วรรคสอง กำหนดให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เสนอชื่อต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้งดเว้น มาตรา 88 นั้น ยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ที่มีเจตนาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเพื่อให้ลุล่วงผ่าน 5 ปีแรก และมาตรา 272 วรรคสอง มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงต้องเป็นที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในการเสนอขอยกเว้นเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องให้ผ่านไปได้
ประเด็นที่สาม ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้กำหนดระยะเวลาและเริ่มนับเวลาตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามร่างรัฐธรรมนูญนี้
ดังนั้น ขอให้ กรธ. แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย