นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ใน จ.ปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานีมีการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี ได้คัดกรองผู้เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร จำนวน 80 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อทุกคน มีการตรวจเชิงรุกเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 337 ราย ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน และให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงรายงานตัวกับ รพ.สต.หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อคัดกรองอาการและให้กักกันที่บ้านครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อตามกำหนด โดยตั้งแต่วันที่ 6-15 มกราคม 2564 คัดกรองผู้เดินทางแล้ว 2,195 ราย ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด อยู่ระหว่างรอผลการตรวจอีก 4 ราย นอกจากนี้ ยังมีสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) 1 แห่ง รองรับได้ 240 เตียง และสถานกักกันแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) 1 แห่ง รองรับได้ 10 เตียง รวมถึงเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง คือ บริเวณเขตอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี รพ.โคกโพธิ์ และรพ.ยะรัง และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้จังหวัดชายแดนใต้ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย เข้มมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบเดินทางข้ามแดน เนื่องจากเคยมีตัวอย่างที่มีผู้ลักลอบเข้ามาแล้วทำให้เกิดการติดเชื้อ ขอให้คนไทยเดินทางกลับเข้ามาอย่างถูกต้อง เข้ารับการกักกันตามระบบ 14 วัน เมื่อตรวจพบการติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายไปในชุมชน
“หากไม่มีการติดเชื้อจำนวนมาก โรงพยาบาลปกติสามารถรองรับได้เพียงพอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยรวมขณะนี้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังถือว่าปลอดภัย แต่ยังต้องคงมาตรการเข้มในการป้องกันโรค การ์ดต้องไม่ตก ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง รวมถึงป้องกันการลักลอบข้ามแดน” นายอนุทินกล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ยืนยันว่ายึดหลักวัคซีนมีคุณภาพและความปลอดภัย โดยมีคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้ดำเนินการฉีดวัคซีนเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ส่วนข้อกังวลเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนที่ป้องกันโรคได้ 50-70% นั้น จริงๆ แล้วเป้าหมายในการใช้วัคซีนคือเพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิตลง ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทุกตัวที่มีผลการทดลองเบื้องต้นในมนุษย์ระยะที่ 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตแทบ 100% จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นต้น และจะมีการติดตามหลังการฉีดอย่างใกล้ชิด ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ที่สำคัญคือ ระหว่างที่ยังไม่มีวัคซีนยังต้องใช้ชีวิตประจำวันแบบ New Normal เพื่อป้องกันการติดเชื้อ