โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
จีนฝันไกลสู่ห้วงอวกาศ
ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจยและนวัตกรรมของไทย ภายใต้การบริหารของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้สร้างความฮือฮาให้เป็นข่าวว่า กระทรวงอุดมศึกษาฯ วางแผนงานภายใน 7 ปี จะพัฒนาสร้างยานอวกาศไทยขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์เป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย เพื่อโชว์ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย และเป็นหนทางทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง
แม้จะเรียกเสียงหัวเราะ และสร้างคำถามได้มากมายว่าเป็นไปได้หรือ กระทรวงอุดมศึกษาฯ มีภารกิจอื่นให้ทำก่อนไหม แต่หากคนไทยไม่ปรามาสชาติตนเอง หากมองว่าเป็นฝันอันยิ่งใหญ่ที่ท้าทาย หากกล้าที่จะลงมือทำอย่างมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ ความสำเร็จอาจจะมาถึงเร็วกว่าที่ตั้งไว้ ดังเช่นแผ่นดินมังกรที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศเคยยากจนข้นแค้นไม่มีจะกิน ถึงขั้นอดตายนับสิบล้านคน แต่วันนี้ยานอวกาศจีนจะถึงดาวอังคารแล้ว
ย้อนไปดูคำอวยพรช่วงปีใหม่ 2021 ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวถึงปี 2020 ที่ผ่านมาว่า จีนต้องเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ประชาชนร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่ามาได้ ขณะเดียวกันก็สามารถแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 บรรลุเป้าหมาย
สี กล่าวว่า “ค.ศ. 2020 การสร้างสังคมพอกินพอใช้ให้แล้วเสร็จอย่างรอบด้าน ประสบความสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ การขจัดความยากจนประสบชัยชนะโดยสิ้นเชิง เราทุ่มเทกำลังแก้ไขปัญหาความยากจนสุดขีด จนการปฏิบัติภารกิจที่ยากลำบากที่สุดดังกล่าว ประสบความสำเร็จในที่สุด จากการใช้ความพยายามเป็นเวลา 8 ปี ประชากร 100 ล้านคนในชนบท พ้นจากภาวะยากจนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ อำเภอ 832 แห่ง ถูกถอดออกจากบัญชีพื้นที่ยากจน”
นอกจากบรรลุเป้าเรื่องแก้ความยากจนคนทั้งชาติ ยังเป็นปีที่จีนได้ฉลอง 40 ปีของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น และ 30 ปีของเขตพัฒนาผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเจ้าสัวซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นนักลงทุนไทยรายแรกที่เข้าไปมีบทบาทร่วมพัฒนาเขตผู่ตง
ถือเป็นข้อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า การปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนเป็นความมหัศจรรย์แห่งการพัฒนา
ปี 2021 จะครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยภารกิจอาจจะสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาเป็นประเทศอยู่ดีมีสุข และมุ่งสู่ประเทศสังคมนิยมทันสมัยในปี 2049
เรื่องความทันสมัย จีนกำหนดเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) และ Made In China 2025 โดยอุตสาหกรรมหลัก AI จะต้องสร้างมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านหยวน และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านหยวน
เป้าหมายถัดไปปี 2035 จีนจะเป็นผู้นำ AI โดยอุตสาหกรรม AI จะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านหยวน
แนวคิดในการพัฒนาของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนพื้นดิน แต่ลงลึกถึงมหาสมุทร ขึ้นสูงเสียดฟ้าทะลุถึงอวกาศดังที่สี จิ้นผิง กล่าวตอนปีใหม่ว่า “การสำรวจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การส่งยานสำรวจดาวอังคาร เทียนเวิ่น-1 ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 และยานดำน้ำเฟิ่นโต้วเจ่อ ล้วนประสบความสำเร็จที่สำคัญ”
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2019 จีนส่งยาน “ฉางเอ๋อ 4” ลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 จีนส่ง “ฉางเอ๋อ5” ไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ได้อีกครั้ง พร้อมภารกิจเก็บตัวอย่างหินและดินกลับสู่โลก
ภาพที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกคือ “ธงชาติจีน” ที่ปักลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ แสดงให้เห็นถึงชัยชนะด้านเทคโนโลยีอวกาศ อันเป็นการท้าทายและสั่นคลอนชาติที่เคยเป็นมหาอำนาจทางด้านอวกาศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่หยุดลงทุนพัฒนาด้านอวกาศด้วยตัวรัฐบาลเองมายาวนานร่วมทศวรรษ
องค์การนาซา ของสหรัฐอเมริกา ที่เคยยิ่งใหญ่ เคยทุ่มงบประมาณแข่งเป็นเจ้าอวกาศกับรัสเซีย หยุดทุ่มงบมาร่วมทศวรรษ ช่วง 4 ปีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มัวแต่ก่อกำแพงกั้นเม็กซิโก ทำสงครามการค้ากับจีน ทะเลาะไปทั่วโลกมีแต่โม้ว่าจะตั้งกองทัพอวกาศ ซึ่งไม่รู้ว่าจะรบกับเอเลี่ยนต่างดาวดวงไหน
ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือใช้บริการจรวดรัสเซียและจ้างภาคเอกชนอย่าง SpaceX ของอีลอน มัสก์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา” ในการพัฒนาการขนส่งคนและพัสดุสู่อวกาศ ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศสู่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อกลางปีที่แล้ว
ปี 2022 SpaceX มีแผนจะส่งนักท่องเที่ยวสู่ห้วงอวกาศ แต่ยานอวกาศของจีนจะถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
จีนวางยุทธศาสตร์อวกาศไว้ 3 ขั้น
ขั้นแรก สร้างเครือข่ายดาวเทียม “เป่ยโต่ว” (BDS) หรือระบบระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่สำเร็จสมบูรณ์เมื่อกลางปี 2020 สู้กับระบบ GPS ของอเมริกา ให้บริการแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ การจราจรทางบก เรือ อากาศ จนถึงด้านการทหาร ซึ่งในเชิงพาณิชย์ทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในเชิงยุทธศาสตร์จีนจะใช้ประโยชน์สัญญาณดาวเทียมกับชาติพันธมิตรบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่
ขั้นสอง ตั้งสถานีอวกาศที่อยู่ในวงโคจรโลกอย่างถาวร “เทียนกง” ภายในปี 2022
ขั้นสาม การสำรวจลึกในอวกาศ เช่น การส่งคนลงดวงจันทร์ การสร้างเขตเศรษฐกิจอวกาศ หรือการส่งยานลงจอดที่ดาวอังคาร โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2020 จีนส่งยาน “เทียนเหวิน 1” ไปสำรวจดาวอังคารในระยะทาง 55 ล้านกิโลเมตร มีกำหนดถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
การก้าวกระโดดในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนช่วง 40 ปี ผลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลงานด้านนวัตกรรมและ AI รวมถึงความสำเร็จด้านอวกาศ ทำให้จีนมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในปี 2028 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดหมายไว้ถึง 5 ปี
โดยอัตราเร่งอาจจะเร็วยิ่งขึ้นหากในช่วง 5 ปีของแผนฯ 14 ของจีน (2021-2025) ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐอเมริกายังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า หรือยังขาดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่โดดเด่น
พญาอินทรีย์อาจจะครองท้องฟ้า แต่พญามังกรกำลังทะลุเมฆสู่ห้วงอวกาศ