นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานความร่วมมือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผ่านมาว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการเกษตร โดยเชิญชวนประชาชนคนไทยเที่ยวเมืองไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยเน้นการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สนับสนุนสินค้าเกษตรและการจัดการทรัพยากรทางการเกษตรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและชุมชน รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีความยั่งยืน ซึ่งจะบูรณาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรระหว่างภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานความร่วมมือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 3 กันยายน 2563 ขึ้น โดยมี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้สามารถแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวได้ ตลอดจนจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนางานท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบบูรณาการ
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือร่วมกันกับหน่วยนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความโดดเด่น อาทิ 1) กรมส่งเสริมการเกษตร มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่น มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม 247 แห่ง แบ่งเป็นของเกษตรกร 226 แห่ง ศูนย์ปฏิบัติการฯ สังกัดกรมฯ 21 ศูนย์ 2) กรมวิชาการเกษตร มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นส่วนราชการ 21 แห่ง มีความโดดเด่นในแบบของตัวเอง มีข้อมูลองค์ความรู้วิชาการเกษตรด้านต่างๆ ที่หลากหลาย 3) กรมประมง มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของกรมประมง คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เต่ากระอานและเต่าน้ำจืดใกล้สูญพันธุ์ จังหวัดสตูล
4) กรมหม่อนไหม มีศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม 21 แห่ง ได้แก่ การทำผ้าบาติกไหม ผ้าพันคอ หมอนรองคอ และมีกลุ่มหัตถศิลป์ซึ่งทำผลิตภัณฑ์โปรตีนไหม สบู่ ยาสระผม และ 5) กรมปศุสัตว์ มีศูนย์เรียนรู้ด้านปศุสัตว์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเส้นทางและกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การทำปฏิทินท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว ต่อไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้ ดำเนินการในรูปวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ชุมชน มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีกิจกรรมการเกษตรที่โดดเด่น หรือมีนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นจุดเด่นสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ คมนาคมสะดวก ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหลักหรือท่องเที่ยวธรรมชาติ ชุมชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ได้มีแนวทางการดำเนินงานด้านท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) โดยมีมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น จุดคัดกรอง จุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การเว้นระยะหาง กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม เป็นต้น
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวในเบื้องต้น อาทิ 1) กรุงเทพฯ - มวกเหล็ก - สระบุรี ได้แก่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, ฟาร์มสายทอง สาธิตการแปรรูปหม่อน, สวนผักครูสรรเสริญ แหล่งผลิตผักผลอดสารพิษ 2) กรุงเทพ – วังน้ำเขียว - นครราชสีมา ได้แก่ วังน้ำเขียวฟาร์ม ท่องเที่ยวและศึกษาดูงานโรงเพาะเห็ดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน, รักจัง ฟาร์มเมล่อนวังน้ำเขียว เรียนรู้วิธีการปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ, สวนสับปะรดสีบ้านพระอังคาร ชมแหล่งเพาะพันธุ์ต้นสับปะรดสีมากกว่า 200 สายพันธุ์ 3) กรุงเทพ - เพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแพปลาชุมชน, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านทุ่งสะท้อน, มาลัยฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ 4) เชียงใหม่ ได้แก่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (พืชสวนโลก), ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่, I Love Flower Farm เป็นต้น