กรมหม่อนไหม ร่วมมือ 4 ภาคส่วน ดันไหมอุตสาหกรรมขับเคลื่อนตลาด นำการผลิตเมืองน่าน ส่งเสริมชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มรายได้ครัวเรือน-ลดปัญหาบุกรุกทำลายป่า
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาที่สำคัญของจังหวัดน่านคือ การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ที่มีความลาดชันสูง เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีปัญหาตามมามากมาย เช่น พื้นที่ป่าไม้ลดลง ดินเสื่อมโทรมจากการถูกชะล้างหน้าดิน มีการใช้สารเคมีปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร และผลตอบแทนการปลูกข้าวโพดไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปลูกพืชของเกษตรกร โดยยึดแนวนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ปัจจุบันภาคเอกชนมีความต้องการรังไหมเพื่อผลิตเส้นไหมปีละ 5,000 ตัน แต่เกษตรกรผลิตได้เพียง 2,000 ตัน และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้พื้นที่น้อย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายสิบปีๆ ละหลายรุ่น
ทั้งนี้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯน่าน ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่จังหวัดน่าน ร่วมกับ 4 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเกษตรกร ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนได้ทำข้อตกลงกับ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างเป็นระบบและราคาเป็นธรรม ผลการดำเนินการนอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีตลาดรับซื้อรังไหมที่แน่นอน ลดการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศแล้ว ยังสามารถลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดีเนื่องจากปลอดภัยจากสารพิษ เพราะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไม่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร จึงเป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน