จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบง.) โดยมีเป้าหมาย 150 MW.แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 MW.ก๊าซชีวภาพ 75 MW. เป็นเหตุให้พี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก พากันผิดหวังกับประกาศดังกล่าว เนื่องจากโครงการนี้เคยผ่านมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาก่อนแล้ว โดยครั้งนั้นได้กำหนดเป้าหมายไว้ 600 MW.แต่กลับถูกลดโควตาลงไปกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศจึงออกมาเรียกร้องไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวเสียใหม่
โดย เมื่อ 27 มกราคม 64 ที่ผ่านมา ตัวแทนนักวิชาการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร ที่สนใจโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้จัดงานแถลงข่าว ในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก : วอนนายกฯทบทวน : ทางเลือกทางรอดเกษตรกร” โดยมี นายธนา กล้าเขตการ กรรมการวิสาหกิจชุมชนพัฒนาสมุนไพรไทยออร์แกนิค จ.สุพรรณบุรี, นายอุทัย นิธุรัมย์ ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มความหวังใหม่ปลูกไผ่พลังงาน จ.นครราชสีมา, ศ. ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิเครือข่ายพลังงานเกษตรสีเขียว, พล.อ.อนันต์ บุญรำไพ ประธานชมรมรักเมืองไทย และ นายฐิติ ชัยนาม ที่ปรึกษาสมาคมพืชเศรษฐกิจไทย ร่วมแถลงข่าว
โดยมีใจความว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโครงการที่ดี ช่วยยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เพราะเปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน ร่วมกับชุมชน จัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สองทาง คือรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า ตลอด 20 ปี อีกทั้งยังมีรายได้จากการปลูกและขายพืชพลังงานต่างๆ รวมทั้งเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำเกษตร เช่นซังข้าว ซังข้าวโพด เศษไม้ ฯลฯ
แต่เกษตรกรต้องผิดหวัง เมื่อได้มีการลดโควตา โรงไฟฟ้าชุมชนจาก 600 MW. เหลือเพียง 150 MW. อีกทั้งยังเปิดทางให้กลุ่มทุนเขามาแข่งขันตัดราคา โดยกระทรวงพลังงานจะใช้วิธีการเปิดประมูลราคา ใครเสนอราคาขายไฟฟ้าต่ำสุดได้สิทธิไปดำเนินการ ซึ่งจะทำให้วิสาหกิจชุมชนทั่วไปไม่สามารถแข่งขันได้ และจำทำให้โครงการนี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของทุนใหญ่ที่เข้าไปยึดพื้นที่ในแต่ละจังหวัด และจะเกิดการกดราคารับซื้อพืชพลังงานของเกษตรกร ท้ายสุดโครงการนี้ก็จะมีปัญหา ไม่ประสบความสำเร็จ
นายอุทัย นิธุรัมย์ ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มความหวังใหม่ปลูกไผ่พลังงาน กล่าวว่า หลายปีก่อนเกษตรกรหันมาทำสวนไผ่ เพราะเห็นว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถขายได้ทั้งหน่อและลำต้น เมื่อกระทรวงพลังงานประกาศว่าจะให้เกษตรกรทำโรงไฟฟ้าชีวมวล 600 MW. ต่างก็ดีใจ เพราะจะได้ขายไผ่ป้อนโรงไฟฟ้า ได้ราคาที่ดี แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานจะให้โควตาโรงไฟฟ้าชีวมวลเพียง 150 MW.นั้นหมายถึงว่า จำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ต้องลดจำนวนลงมาก อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรที่เฝ้ารอโครงการนี้ ไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะได้ร่วมทำโครงการนี้ด้วยหรือไม่ เพราะใช้วิธีประมูลราคา แทนที่จะใช้วิธีจับฉลาก ซึ่งจะทำให้ทุนใหญ่เข้ามาครอบงำและคว้าเค้กชิ้นนี้ไป จึงขอวิงวอนให้ผู้มีอำนาจช่วยพิจารณาทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง
ขณะที่ศ. ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิเครือข่ายพลังงานเกษตรสีเขียว กล่าวว่า ตนเองเป็นแฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่หวังประโยชน์ส่วนตน ที่ผ่านมาก็ทำทุกอย่างเพื่อคนฐานราก มีโครงการดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อล่วงมาถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หลายคนตั้งข้อสังเกตว่านายกฯอันเคยเป็นที่รักของประชาชน เริ่มห่างมวลชนฐานราก ซึ่งตนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะแรงกดดันจากบุคคลแวดล้อมบางคน อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรกำลังเดือดร้อนและร้องขอความเป็นธรรมจาก จาก พล.อ.ประยุทธ์ กรณีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรอีกครั้ง อย่างเช่นที่เคยแก้ปัญหาให้สหกรณ์การเกษตรในกรณีโครงการไฟฟ้าโซล่าฟาร์มเพื่อสหกรณ์การเกษตรในช่วงที่ผ่านมา
“ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานเคยประกาศว่าจะทำโรงไฟฟ้าชุมชน 600 เมกกะวัตต์ เกษตรกรต่างดีใจ คิดว่าคราวนี้คงได้เข้าไปทำโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้า และขายพืชพลังงานในพื้นที่ แต่เมื่อกระทรวงพลังงานมาปรับลดเหลือเพียง 150 เมกกะวัตต์ และใช้วิธีการประมูลราคาทำให้พี่น้องเกษตรกรรู้สึกผิดหวัง อยากให้นายกรัฐมนตรีช่วยพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้โครงการนี้กลับมาที่ 600 เมกกะวัตต์เช่นเดิม และใช้วิธีการจับฉลาก ซึ่งทุกฝ่ายมองว่าวิธีนี้จะยุติธรรมและโปร่งใสมากที่สุด เพราะจะไม่สามารถล๊อกสเป็กให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดได้ ผมขอวอนนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือคนฐานรากอีกสักครั้งเถอะครับ พวกเขากำลังรอความเมตตาจากท่านอยู่นะครับ”ประธานที่ปรึกษามูลนิธิเครือข่ายพลังงานเกษตรสีเขียว กล่าว