นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระโหม มอบแนวทางเกี่ยวกับการบริหารวัคซีนโควิด-19 ยึดหลักให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะบริหารแผนการฉีดวัคซีน และกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามประเมินผลการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนไทยคนแรกได้ภายในเดือนกุมภาพันธุ์นี้ นายกรัฐมนตรียังวอนให้คนไทย “ตั้งการ์ดสูง” และยังต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปในสถานที่เสี่ยงและสถานที่แออัด
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564 ได้มีการรายงานลำดับกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้มีโรคประจำตัว 6 โรคกำหนด คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
ระยะที่ 2 ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยกำหนดฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสซื้อโควิด 19 ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก และผู้เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ และระยะที่ 3 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนปฏิบัติงานในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนปฏิบัติการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแต่ละกลุ่มในรายละเอียด รวมทั้งการขนย้าย การขนส่งและการจัดเก็บวัคซีนเพื่อรักษาประสิทธิภาพวัคซีน ขณะเดียวกันได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ภายในประเทศ โดยกลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดมี 3 ชนิด คือ ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์ ชนิด Protein subunit (Plant-based) ของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชนิด DNA โดยบริษัทไบโอเนท เอเชีย อยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือ หรือพัฒนาศักยภาพการขยายขนาดการผลิต เพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร