เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์ข้อความ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นศาลไต่สวนการยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปและเนื้อหาการไลฟ์สด เรื่อง วัคซีนพระราชทาน มีเนื้อหาดังนี้
หากยังพอจำกันได้ เมื่อคืนวันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์สดวิจารณ์ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทยที่ช้าและน้อยเกินไป ไม่ทันการณ์ โดยสาเหตุมาจากการ “แทงม้าตัวเดียว”
.
เช้าวันรุ่งขึ้นก็มีท่าทีดุเดือดจากหลายฝ่าย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(หรือที่เรียกติดปากสั้นๆ ว่า DE)
.
โดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เปิดเผยในวันที่ 31 มกราคม 2564 ว่าศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องของ DE ให้ระงับการเผยแพร่คลิปและเนื้อหาการไลฟ์สดของธนาธรทั้ง 3 ช่องทาง ได้แก่เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และยูทูบคณะก้าวหน้า
.
ทำให้ทางฝั่งธนาธรต้องยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยในวันนี้ศาลได้มีการนัดไต่สวน
.
เราจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากห้องไต่สวนมาเล่าให้ทุกคนได้รับฟังถึงแนวทางและเหตุผลของทั้งฝั่ง DE และธนาธรในการต่อสู้กันว่าจะแบนหรือไม่แบนคลิปดังกล่าว - ก่อนที่จะมีการนัดอ่านคำสั่งศาลในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้
.
สำหรับการต่อสู้ครั้งนี้ ฝั่งหนึ่งมีทนาย "กฤษฎางค์ นุตจรัส" และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ผู้ขอให้เพิกถอนคำสั่งแบนคลิป ส่วนอีกฝั่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของ DE ซึ่งมีพยานเป็น "ทศพล เพ็งส้ม" กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทนายความหัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของพรรคพลังประชารัฐ และยังเป็นทนายความให้ ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ รวมทั้งเคยเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. นนทุบรี พรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
.
โดยในการพิจารณา ศาลเริ่มจากการสอบถามทั้งสองฝ่ายว่ามีประเด็นใดจะต้องพิจารณาลับหรือไม่ โดยทางฝั่งธนาธรเห็นว่าไม่มี ส่วนทางฝั่ง DE เห็นว่ามีประเด็นเรื่องสถาบันฯ ที่จะต้องพิจารณาลับ
.
อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่ามีข้อพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1.กระทบความมั่นคงในราชอาณาจักร 2.เป็นความลับราชการ ซึ่งก็เห็นว่าข้อเท็จจริงก็ปรากฏทั่วไปในสื่อสาธารณะอยู่แล้ว และเรื่องความลับของทางราชการก็ไม่มีชุดข้อมูลใดเข้าข่ายให้ต้องพิจารณาลับ
.
หลังจากนั้นศาลเปิดคลิปไลฟ์ความยาวเต็มประมาณ 30 นาที เพื่อฟังตั้งแต่ต้นจนจบในห้องพิจารณาคดี
.
หลังจากที่ดูคลิปจบ ทางฝั่ง DE ก็ยืนยันหลักฐานตามคำร้องเดิม ในการไลฟ์ของธนาธรในช่วงนาทีที่ 15 และ 28 “ทั้งหมดนำมาสู้คำถามสุดท้ายว่า ในหลวง ร.10 เป็นผู้ถือหุ้นของ Siam Bioscience คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น และถ้าหากเกิดอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าผลิตวัคซีนช้ากว่าเวลา มีปัญา แจกจ่ายกับประชาชนไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่? เพราะประชาชนย่อมตั้งคำถามกับ Siam Bioscience ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวง ร. 10”
.
ส่วนทางด้านธนาธรใช้เวลาในการอธิบายยาวๆ ดังนี้:
.
“เหตุผลที่ผมออกมาไลฟ์เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนในสถานการณ์โควิด ผมเห็นว่ายุทธศาสตร์วัคซีนที่รัฐบาลทำอยู่นั้นไม่เหมาะสม เพราะน้อยเกินไปและช้าเกินไป
.
ถ้ายังใช้แผนนี้อยู่ ก็มีตัวเลขของทางราชการมาให้ดู เป็นเอกสารแนบท้ายในการประชุม ครม. ว่าจะเกิดความเสียหายเดือนละกว่า 2.5 แสนล้านบาท อย่าลืมว่าคนที่แบกรับต้นทุนเหล่านี้คือคนที่หาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่อ่อนแอ
.
ถ้าย้อนกลับไปดูเอกสารการประชุม กมธ. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลภายในปี 2566 ได้เพียง 50% ของทั้งประเทศเท่านั้น ถ้าเดินตามแผนที่เราจะเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ไปอีก 3 ปี ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำเช่นนี้
.
ยกตัวอย่างเช่นอิสราเอล ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนก็ประกาศจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายใน 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง
.
ตอนนี้เราอยู่ในอุโมงค์มืดมิด และวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
.
ส่วนเหตุผลที่กล่าวถึงในนาทีที่ 15 และ 28 นั้น ขอเล่าว่าบริษัท Siam Bioscience ถือหุ้นโดยในหลวง ร.10 สัดส่วน 100% ตามเอกสาร บอจ. ที่ส่งให้ศาลดู ซึ่งข้อมูลนี้เป็นจริงตามที่กล่าวในไลฟ์
.
มี 3 สัญญาที่สำคัญในดีลวัคซีนนี้ คือ 1.รัฐบาลซื้อจาก AstraZeneca
2. AstraZeneca ที่จ้าง Siam Bioscience ผลิต
3.สัญญาที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน Siam Bioscience
.
ประเด็นที่พูดเรื่องนี้ เพราะวัคซีน 26 ล้านโดส หรือคิดเป็น 20% ของประชากรนั้น มาจาก AstraZeneca ที่เดียว ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลที่พบได้ตามอินเตอร์เน็ตและสาธารณะทั่วไป
.
และภายหลังมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งก็มาจาก AstraZeneca เช่นกัน เท่ากับว่าไม่มีการกระจายความเสี่ยง
.
และในประเด็นรัฐบาลสนับสนุนงบหลายร้อยล้านบาทให้กับ Siam Bioscience โดยปกติก็ต้องมีเอกสารการจัดหา การประกวดเปรียบเทียบคุณสมบัติ หรือการแสดงการคัดเลือกโดยละเอียดโปร่งใส
.
ไม่นับว่าในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีน ก็มีการพูดเรื่อง conflict of interest ที่เน้นย้ำว่าจะต้องทำอย่างโปร่งใส หากมีกรณีเกิดขึ้นจะต้องชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบ
.
***ศาลคงทราบหลักการอยู่แล้วว่า The king can do no wrong because the king can do nothing
.
วันนี้ผมแนบหนังสือพิมพ์ The Economist มาอ่านให้ฟังว่าขณะนี้ที่ยุโรป บริษัท AstraZeneca ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามสัญญา ประชาชนในยุโรปก็โกรธ
.
แล้วถ้าเหตการณ์เช่นนี้เกิดกับประเทศไทย ใครจะสัญญาได้ว่าพระเกียรติของสถาบันจะไม่ได้รับผลกระทบ??? รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่??? ดังนั้นการปกป้องพระเกียรติ คือการไม่เอาสถาบันมาทำเช่นนี้”
.
หลังจากนั้นศาลจึงถามว่าทำไมถึงใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ธนาธรตอบว่า:
.
“ผมไม่ได้ใช้คำนี้เป็นคนแรก แต่ทั้งคุณประยุทธ์และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำทำนองนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด
.
ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูด เพราะเกรงว่าถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติได้
.
และเนื่องจากรัฐบาลไทยใช้งบประมาณแผ่นดินซื้อวัคซีน และให้ทุนสนับสนุน Siam Bioscience ไปพัฒนา ดังนั้น การใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” จึงไม่ควรทำ
.
แต่ถ้าหากเราจะยืนยันใช้คำเช่นนี้ แล้วผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น? ในเมื่อเป็น “วัคซีนพระราชทาน”
.
ทางด้าน DE พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เจาะจงและไม่ได้ว่าจ้างโดยตรงให้ Siam Bioscience แต่ AstraZeneca เป็นผู้เลือก Siam Bioscience เอง
.
และกล่าวหาธนาธรว่ามุ่งประเด็นให้คนเข้าใจว่าถ้าผลิตวัคซีนล่าช้าหรือไม่ได้คุณภาพก็ต้องไปโทษ Siam Bioscience ซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็คือในหลวง ร.10 นั่นเอง
.
"จากคลิปเป็นการชี้นำประชาชนให้ตั้งคำถามต่อในหลวง ร.10 ให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้น ซึ่งไม่จำเป็น เพราะผู้รับผิดชอบคือกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น แต่ธนาธรกลับไม่เน้นความรับผิดของนิติบุคคล"
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความฝั่งธนาธรถามซัก ทาง DE ก็ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท Siam Bioscience แต่อย่างใด
.
...อย่างไรก็ตาม ในคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “แม้ว่าพูดจริงก็มีความผิดได้” ... นี่คือคำกล่าวของฝั่ง DE
.
(หรือที่แวดวงกฎหมายมักพูดคิดปากกันว่า “ยิ่งจริงยิ่งผิด”)
.
หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ธนาธรเปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่มาดักรอหน้าศาลว่าไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะเราทำตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ส่วนศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของท่าน
—
.
8 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. โปรดติดตามกันต่อไปว่าศาลจะเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์วัคซีนดังกล่าวหรือไม่
.