นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทย ได้จัดระบบบริหารจัดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ตั้งแต่เริ่มพบการระบาด ทำให้ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการระบาดระลอกใหม่ สามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับพื้นที่ ภาพรวมควบคุมสถานการณ์ได้ดี โดยสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียได้จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับ 4 ที่รับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดีที่สุดในโลก จากทั้งหมด 98 ประเทศ โดยอันดับ 1 คือ นิวซีแลนด์ 94.4 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 รองลงมาคือ เวียดนาม 90.8 คะแนน ไต้หวัน 86.4 คะแนน ไทย 84.2 คะแนน และไซปรัส 83.3 คะแนน การประเมินครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาการประเมิน 36 สัปดาห์ ตัดข้อมูล ณ วันที่ 9 มกราคม 2564 โดยประเมิน 6 ตัวชี้วัด คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อสัดส่วนการตรวจหาเชื้อ และการตรวจหาเชื้อต่อประชากร 1,000 คน
“ผลการจัดอันดับครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และยืนยันความสำเร็จของการควบคุมโรคโควิด 19 ที่ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข การอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เฝ้าระวัง เข้มงวดตามแนวชายแดน ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ใช้แอปพลิเคชันไทย, หมอชนะ” นายอนุทินกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับโลกด้านสาธารณสุข อาทิ อันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดจากข้อมูลดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (GCI) จาก 184 ประเทศทั่วโลก ตามดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเทศมาเลเซีย ณ วันที่ 29 ก.ค. 63 โดยมีคะแนนดีที่สุด ในสองมิติ คือ ด้านการฟื้นตัวจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก และด้านความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้ดี โดยมีอัตราการติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังและการควบคุมโรคที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในปี 2562 ไทยติดอันดับ 6 จาก 195 ประเทศที่มีความมั่นคง ด้านสุขภาพ เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเตรียมตัวรับมือโรคระบาดดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ สหรัฐอเมริกา (John Hopkins Center for Health Security) ที่ใช้ดัชนีวัดความมั่นคงด้านสุขภาพ (Global Health Security Index) พิจารณาจากความเข้มแข็งระบบสาธารณสุข ความสามารถในการป้องกันโรค มาตรการที่จะใช้รับมือกรณีมีสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง ในปี 2564 แม้ว่าไทยจะเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ แต่สามารถบริหารจัดการได้ดี ทำให้ไทยติดอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 8 ของโลกที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด จากการสำรวจของ Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลค่าครองชีพและระบบสาธารณสุขใหญ่ที่สุดในโลก