นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา โดยได้นำเสนอข้อมูลเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ของไทย ซึ่งรัฐสภามีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลงเป็นที่เรียบร้อยโดยขั้นตอนต่อไป ประเทศสมาชิกอีก 15 ประเทศ จะต้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น ความตกลงอาร์เซปจะมีผลใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าจะทันภายในปี 2564
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องเร่งออกประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงในการลดเลิกอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า เป็นต้น เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง อาร์เซป รวมถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซป ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนความตกลงมีผลใช้บังคับ
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลงอาร์เซป เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย และช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สัปปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น
ความตกลงอาร์เซปยังช่วยให้ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีของไทยสามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ อาร์เซปยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์จากความตกลงนี้มากขึ้น