นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด19 ที่ยังไม่จบสิ้น ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หรือกลุ่ม SMEs ยังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลากหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปอย่างมหาศาล (Technology Disruption) ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กต้องเร่งปรับตัว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมไปถึงสายป่านที่ไม่ยาวมากนัก อีกทั้งการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งธุรกิจรายเล็กต้องแบกรับดอกเบี้ยที่แพงกว่า ในอัตรา 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะได้รับดอกเบี้ยเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs แข่งขันและต่อสู้ได้ยากลำบากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะค่อนข้างยากลำบาก ทว่าในมุมมองของ ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษา THE INNOVATOR กล่าวว่า ใช่ว่าธุรกิจ SMEs จะไม่สามารถแข่งขันและพัฒนาให้เติบโตได้ แต่หัวใจหลักคือจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการ “สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ” ที่มีความ “แตกต่าง” และ “ตอบโจทย์” ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งนวัตกรรมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอไป หากแต่นวัตกรรมอาจจะเป็นสิ่งที่เคยมีในที่หนึ่งมาแล้วและเมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกที่และถูกเวลา ก็จะสามารถช่วยธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและตอบโจทย์ผู้บริโภค ช่วยให้ขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น หลุดพ้นจากวงจรการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เมื่อเห็นอะไรขายดีก็มักจะพากันทำเลียนแบบ จนสุดท้ายต้องตัดราคากันเอง โอกาสสร้างกำไรจึงน้อยมาก
ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวถึงองค์ประกอบพื้นฐานในการทำธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันไปสู่การสร้าง “นวัตกรรมที่แตกต่างและตอบโจทย์” ประกอบด้วย 1. องค์กร (Organization) เปรียบเสมือนผู้ส่งสาร คือส่วนหลักของธุรกิจในการนำเสนอหรือส่งมอบคุณค่าผ่านสินค้าและบริการไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งการสร้างนวัตกรรมในองค์กรถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะช่วยส่งมอบคุณค่าให้ไปถึงลูกค้าได้สำเร็จ การสร้างนวัตกรรมในองค์กรประกอบด้วยพื้นฐานสำคัญ 3 ส่วน คือ “รูปแบบการสร้างรายได้และกำไร” (Revenue & Profit), “การสร้างพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจ” (Partnership) และ “การจัดการภายในองค์กร” (Internal Management)