กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ บริษัท ซีพี - เมจิ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Mem0randum of Understanding : MOU)โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสามหลั่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินงาน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี - เมจิ จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีพันธกิจสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าที่มีความสมบูรณ์ให้คงอยู่ และการฟื้นฟูสภาพป่าที่มีความเสื่อมโทรม ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนสังคม และประเทศชาติ ในด้านการเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เพื่อร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เพียงหน่วยงานเดียว มิอาจดำเนินการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยลำพังได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นภาคีเครือข่าย ดังเช่น ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ในวันนี้ขอขอบคุณ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสร้างผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ อันจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ปฏิบัติงานป้องกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าด้วยความทุ่มเทและเสียสละ การลงนามความร่วมมือตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นในวันนี้ จะเป็นอีกจุดหนึ่งของการเริ่มต้นอันทรงคุณค่า เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ในการดูแลรักษาผืนป่าของประเทศร่วมกัน เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป
นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี - เมจิ จำกัด จำกัด กล่าวว่า เครือซีพี มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และมีปณิธานในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยรวม เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโลกร้อน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เครือซีพี จึงมีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าวให้เป็นศูนย์ ซึ่งภายในปี 2573บริษัท ซีพี - เมจิ จำกัด ได้มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่ไปกับการปลูกต้นไม้เพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว พลิกฟื้นผืนป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน และบรรเทาภาวะโลกร้อน พร้อมกับเดินหน้าสร้างเครือข่ายชุมชน ร่วมกันคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติอย่างยั่งยืนซีพี –เมจิ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและทำให้ประเทศชาติของเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปีโดยทางบริษัท ซีพี – เมจิ จำกัด จะร่วมดำเนินการทำการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในท้องที่บ้านบุใหญ่หมู่ 10 ตำบลห้วยแห้งอำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรีจำนวน 50 ไร่ ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าแบบบูรณาการด้วยการสร้างฝายผสมผสานจำนวน 10 แห่ง พร้อมการจัดทำแนวกันไฟการสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่าและการสร้างเครือข่ายชุมชนพร้อมทั้งสนับสนุนกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อุทยานแห่งชาติสามหลั่นมีพื้นที่ 27,856 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแก่งคอยอำเภอหนองแคอำเภอวิหารแดงและอำเภอเมืองสระบุรีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้นมีพรรณไม้เด่นที่เป็นพืชหายากและพืชชั้นเดียว อาทิก้ามกุ้งสยาม เข้าพรรษา ฯลฯ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นส่วนใหญ่ประกอบด้วยชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1A คิด อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นเป็นต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำนครนายกมีลำน้ำสั้นๆกระจายอยู่ทั่วบริเวณเป็นลำน้ำที่มีน้ำไหลผ่านในช่วงฤดูแล้งเป็นลำน้ำที่เป็นต้นน้ำของน้ำตกสามหลั่นน้ำตกโตนรากทรายน้ำตก ภูหินดาดและน้ำตกเกือกม้าซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขารวกและอ่างเก็บน้ำซับปลากั้งรวมทั้งลำน้ำห้วยทราย ซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกนางโจรและไหลลงสู่หนองแซงและไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักในที่สุด ด้วยเหตุนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และบริษัท ซีพี – เมจิ จำกัด จึงได้เลือกอุทยานฯ น้ำตกสามหลั่น เป็นพื้นที่ในการดำเนินความร่วมมือฯ ครั้งนี้