ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
จีนกับเมียนมา
18 ก.พ. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนกับเมียนมา

เหตุการณ์ที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 มีข้อน่าสังเกตุตามมามาก มีข้อวิเคราะห์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาที่แสดงความคิดเห็นหลากหลายแง่มุม

การกระชับอำนาจของกองทัพที่นำโดยพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 โดยอ้างว่ามีการทุจริตครั้งใหญ่ จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพรรคสหสามัคคตีและการพัฒนา (USDP) ที่กองทัพให้การสนับสนุน เสมือนเป็นการถูกตบหน้าฉาดใหญ่จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ที่กวาดที่นั่งถึง 83% ซึ่งไม่อาจยอมรับได้

เพราะสิ่งที่คาดว่าจะตามมาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบั่นทอนอำนาจของกองทัพ ดังนั้น กองทัพจึงต้องชิงตัดไฟแต่ต้นลม นั่นคือล้างไพ่ล้มการเลือกตั้ง ดองประชาธิปไตยไว้แล้วค่อยนับหนึ่งกันใหม่

บางคนว่า ลึกๆ คือ เรื่องในกองทัพเมียนมาที่ขาดความเป็นเอกภาพ ที่ปัจจุบันมีหลากหลายรุ่น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เป็นพวกรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณ ขณะที่รุ่นกลางและรุ่นใหม่ก็มีอุดมการณ์ที่แตกต่าง ส่วนหนึ่งยังยึดมั่นในชาตินิยม ส่วนหนึ่งมุ่งการค้าหาผลประโยชน์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ทหารหัวประชาธิปไตยที่สนับสนุนพรรค NLD

การรัฐประหารจึงเหมือนได้ประโยชน์สองเด้งทั้งเคลียร์การเมืองและกวาดในค่ายทหาร

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้เป็นไปได้ว่า เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการปรับจุดยืนใหม่ของเมียนมา เพื่อรับกับเกมการเมืองโลกใหม่

กองทัพเมียนมาเห็นอนาคตรออยู่ว่า หากปล่อยไปรัฐบาลใหม่ภายใต้พรรค NLD จะพาเมียนมาใกล้ชิดโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น ต่อไปอิทธิพลของอเมริกาภายใต้พรรคเดโมแครตจะขี่เมียนมา 

เหมือนกับที่ขึ้นบัญชีดำห้าม พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าประเทศ ในฐานะนายทหารผู้มีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาในประเทศเมียนมา เมื่อปี 2562

หรือจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลเมียนมารับบริจาควัคซีน “โควิชีลด์” จำนวน 1.5 ล้านโดสจากอินเดีย โดยเมื่อปลายปี 2020 ก็เพิ่งรับมอบเรือดำน้ำจากอินเดีย 1 ลำ ตามโครงการความร่วมือในน่านน้ำ ก็เป็นการสะท้อนอิทธิพลของอินเดียที่พ่วงอเมริกาเข้ามาด้วย

อินเดียให้ความสำคัญต่อเมียนมาว่า เป็นประตูสู่อาเซียน เพราะเมียนมาเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับอินเดียในระยะทางยาวราว 1,600 กิโลเมตร และมีน่านน้ำต่อเนื่องกันราว 725 กิโลเมตรบริเวณรอบอ่าวเบงกอล  

จึงไม่น่าแปลใจที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำคนแรกที่กล่าวโจมตีกองทัพเมียนมาต่อการทำรัฐประหารว่า เป็นการก้าวถอยหลังของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐของประเทศ ทำให้สหรัฐฯจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจในการคว่ำบาตร

และไม่แปลกใจเช่นกันที่เสียงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ประนามกองทัพเมียนมาเลย สื่อจีนเรียกเหตุการณ์ที่กองทัพเมียนมาควบคุมตัวอองซาน ซูจี และผู้นำในรัฐบาลว่าเป็นการ “ปรับคณะรัฐมนตรี”

หรือการที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า "เราได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา และอยู่ในกระบวนการทำความเข้าใจสถานการณ์ จีนเป็นมิตรประเทศของเมียนมา เราหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถรับมือกับความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญ กรอบของกฎหมาย และพิทักษ์เสถียรภาพของสังคมและการเมือง"

ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมามีภาพความสนิทสนมกับรัฐบาลจีนเป็นอย่างดี เพราะกองทัพเมียนมาซื้ออาวุธจากจีนในสัดส่วน 41% รองจากรัสเซียที่อยู่ในสัดส่วน 43%

ปัจจุบันจีนกับเมียนมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor : CMEC) ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมจีนสู่มหาสมุทรอินเดียตามข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative)

โดยเมื่อต้นปี 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถึงกับลงทุนเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการเพื่อผลักดันโครงการนี้ซึ่งมีการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคหลายพันล้านดอลลาร์อาทิ ท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู ชายฝั่งรัฐยะไข่ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่จะเปลี่ยนเมืองประมงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่

 “เจาะพยู” ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอล เมื่อโครงการนี้สำเร็จจะช่วยให้จีนสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงการจัดหาเชื้อเพลิงจากตะวันออกกลางได้โดยตรง โดยสามารถขนถ่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านท่อไปถึงเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน

ในทางยุทธศาสตร์โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนรุกเอเชียใต้ เป็นส่วนหนึ่งของหมากกลปิดล้อม“อินเดีย” ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของจีนในเอเชีย

วิสาหกิจจีนนำโดยซิติก กรุ๊ปและ ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็จจิเนียริ่ง คือคู่สัญญาโครงการท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู ซึ่งเดิมโครงการมีมูลค่าสูงถึง 7,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.27 แสนล้านบาท แต่ถูกพรรค NLD ทของรัฐบาลหั่นงบประมาณเหลือเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพราะกลัวติด “กับดักหนี้” ของจีน 

การตัดงบดังกล่าวทำให้เกิดเสียงร่ำลือกันว่า ทำให้คนในกองทัพอารมณ์เสีย เพราะเสียประโยชน์ไปมหาศาล 

นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จีนยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงในเมียนมามูลค่า 8,900 ล้านดอลลาร์ มีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่แม่น้ำอิรวดีมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ 

การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ ถ้ากระแสต่อต้านไม่ถูกปลุกสู่ระดับความรุนแรง นอกจากกองทัพจะได้ถือครองอำนาจแล้ว โครงการต่างๆ ของจีนคงจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังแบบไร้อุปสรรค

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...