10 รัฐมนตรีรอดจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจตามคาด เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมใจกันลงมติ "ไว้วางใจ" พวกเขา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุดในหมู่ผู้ถูกซักฟอก
20 ก.พ. 64 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ "ไว้วางใจ" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน ไม่มี หลังใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในการอภิปรายไม่วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 10 คน
ขณะที่รัฐมนตรีที่เหลือก็ได้รับความวางใจจากสมาชิกสภาล่างเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยได้ความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมรัฐบาลต่ำสุดในศึกซักฟอกเมื่อปี 2563 มาปีนี้เขากลับมีคะแนนสูงเป็นอันดับสอง โดยอยู่ในระนาบเดียวกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และล้ำหน้านายกฯ ด้วยซ้ำ โดยมีผลการลงมติ ดังนี้
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนน 274 เสียง ต่อ 204 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 275 ต่อ 201 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 268 ต่อ 207 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 205 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 258 ต่อ 215 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 212 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 268 ต่อ 201 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมว. มหาดไทย ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับความไว้วางใจด้วย คะแนนเสียง 274 ต่อ 199 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน ไม่มี
ในการผ่านญัตติไว้วางใจหรือไม่วางใจรัฐมนตรี ต้องอาศัยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 244 เสียง จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน
อย่างไรก็ตาม จากตรวจสอบพบว่า 6 พรรคฝ่ายค้าน บวก 1 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ 1 ส.ส. พรรคไทยศรีวไลย์ ที่มาร่วมอภิปรายกับฝ่ายค้าน มีเสียงในสภารวมกันเพียง 212 เสียง ห่างจากคะแนนเสียงที่ต้องการถึง 32 เสียง ขณะที่รัฐบาลผสม 19 พรรค (ไม่รวมพรรคไทยศรีวิไลย์) มีเสียงในสภารวมกัน 275 เสียง