รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. ได้แสดงความคิดเห็นหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ระบุว่า
เท่าที่ฟังการอภิปรายถึงตอนนี้ข้อสังเกตสั้น ๆ.
ฝ่ายค้านอภิปรายนำเสนอข้อกล่าวหา มีเหตุผลผลและหลักฐานประกอบชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารวัคซีนการขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
การสร้างรถไฟฟ้าที่ไม่ได้มองทั้งระบบแบบองค์รวมจนทำให้ราคาค่าโดยสารแพงมากการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนเอกชนเรื่องเหมืองแร่ พลังงาน คมนาคม และเจ้าสัวใหญ่การสร้างความแตกแยกในสังคมด้วยการให้หน่วยราชการ IO. การปล่อยปละละเลยการบริหารหน่วยงานในกำกับทุจริตทั้งกลาโหม ศึกษา และพาณิชย์ การเพิกเฉยไม่เร่งรัดให้สอบสวนอดีต สนช.ที่ส่อแววบิดเบือนกระบวนการยุติกรรม
และการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจขาดธรรมาภิบาล และอื่น ๆ อีกหลายประเด็น
ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯตอบไม่ตรงประเด็น หรือเลี่ยงไม่ตอบ หรือตอบแบบเบี่ยงเบนประเด็น นายกฯกล่าวย้ำถึงแต่เรื่องของตนเองว่า ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ เกลียดการโกง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
ในการอภิปรายมีกลุ่มนักประท้วงจำนวนหนึ่ง ที่ประท้วงพร่ำเพรื่อ ขัดขวางการอภิปรายของฝ่ายค้าน ยิ่งประเด็นใดกระทบต่อผู้นำรัฐบาลโดยตรง ความถี่ของการประท้วงก็ยิ่งมากขึ้น พวกนักประท้วงคิดว่าการกระทำของตนเองเป็นพิทักษ์และปกป้องผู้นำรัฐบาล. ผู้นำรัฐบาลคงชื่นชอบชื่นชมบรรดานักประท้วง
คาดว่าบรรดานักประท้วงคงได้รางวัลอย่างใดอย่างหนึ่งตอบแทนการกระทำของพวกเขาจากคนที่เขาปกป้อง
แต่ประชาชนเอือมระอาและเบื่อหน่ายคนเหล่านี้อย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง การประท้วงอาจส่งผลมุมกลับ
เพราะส.ส.คนใดที่ถูกประท้วงมาก ก็ยิ่งทำให้ประชาชนสนใจเนื้อหาสาระที่ ส.ส.ผู้นั้นอภิปรายมากขึ้น
ดังนั้นกลายเป็นว่า การประท้วงทำให้เนื้อหาของการอภิปรายแพร่กระจายไปสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น และยิ่งสร้างผลด้านลบแก่ผู้นำรัฐบาลมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนข้อสรุปที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ
นายทุนมั่งคั่ง
นายพลมั่นคง
ประชาชนยากจน
ประเทศอ่อนแอ