นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2564 กรมฯ ได้วางกรอบแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวมเป็นวงกว้าง โดยในส่วนของภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด ส่งผลต่อรายได้และการประกอบอาชีพของเกษตรกรเป็นจำนวนไม่น้อย
ดังนั้น ในปีนี้กรมฯ จึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ และเน้นการผลิตที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันเพื่อการก้าวเข้าสู่เกษตรวิถีใหม่ (New Normal) โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงก็คือ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ใช้ตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยการ “ยกระดับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน” ซึ่งการยกระดับเกษตรกรประกอบด้วย 1. การส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีการเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกษตรกรทำงานในรูปแบบเครือข่าย การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างตราสินค้า (Brand) มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น
2. พัฒนาตลาดเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร
3. ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้แก่ ยกระดับการทำงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ให้เป็นกลไกหลักของชุมชน เน้นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งช่วยสร้างธุรกิจในชุมชน 4. บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน เน้นการนำของเหลือใช้วัสดุทางการเกษตรกลับมาใช้เพื่อสร้างมูลค่า 5. พัฒนาศักยภาพองค์กรและการบริหารจัดการ ปรับวิธีการทำงานให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการให้บริการในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรมากขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า จากการที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ขณะนี้จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด และ 2) โครงการพัฒนาธุรกิจบริการด้านดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)
ทั้งนี้ การ “ยกระดับเกษตรกร” เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับการรวมกลุ่มเกษตรกร สู่การดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเกษตร สร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)
“ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน กรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1. ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และ 2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีเป้าหมายสำคัญ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำไปสู่การลดการเผาในพื้นที่เกษตร และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในรูปแบบเครือข่ายชุมชน สร้างต้นแบบการท่องเที่ยววิถีเกษตร เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากนโยบายการหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในประเทศให้มีเพิ่มมากขึ้น โดยกรมฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมเป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยวให้เกิดการหมุนเวียนเครือข่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว