โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี แม้ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่ช่วยให้ปราจีนบุรีไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนในอดีต
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานและโฆษกกรมชลประทาน กล่าวถึงการดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการสนองพระราชดำริ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า "อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา" อ่านว่า นะ - รึ - บอ - ดิน - ทระ - จิน - ดา มีความหมายว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้
ความก้าวหน้าของการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น มีผลการดำเนินงานสะสมร้อย 90 ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาได้เริ่มทำการเก็บกักน้ำแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดย ณ วันนี้ (17 ตุลาคม 2559) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 193 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 ของความเก็บกัก ซึ่งการเก็บกักน้ำไว้ดังกล่าว ส่งผลให้ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้เป็นอย่างดี โดยจะเห็นได้ว่าในปีนี้ยังไม่เกิดปัญหาอุทกภัยที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมาและจากข้อมูลสถิติน้ำฝนและปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรอบ 25 ปี คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ดังกล่าว จะทำการระบายเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรีในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรีไม่ให้เกิดเป็นปัญหาดังเช่นในปี 2559 ที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ระบบส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาจะแล้วเสร็จในปี 2562 จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำปราจีนบุรี และเพิ่มพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นแนวกันชน หรือ แนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลงหรือหากเกิดไฟป่า ก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้ รวมทั้งยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรีในอนาคตอันใกล้อีกด้วย