Beef Board รายงานตัวเลขสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ ประจำไตรมาสที่ 4/2563 เดือนธันวาคม พบไทยยังคงสามารถส่งออกเนื้อโคและโคมีชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ประชุมได้มีการรายงานสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ ประจำไตรมาสที่ 4/2563 เดือนธันวาคม แบ่งเป็น ด้านการผลิต มีการผลิตโคเนื้อ ในช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2563 จำนวน 0.291 ล้านตัว เป็นเนื้อโค 48.95 พันตัน (ในปี 2563 มีเนื้อโค 206.15 พันตันต่อปี) การนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 จำนวน 1,000 ตัว (แม่พันธุ์ 915 ตัว พ่อพันธุ์ 85 ตัว และน้ำเชื้อ 127,491 โด๊ส) มีจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อที่สำคัญ ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ด้านการตลาด ตลาดส่งออกโคมีชีวิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
และการส่งออกเนื้อโค แบ่งเป็น เนื้อโคสด ไปยังเมียนมา 53% กัมพูชา 35% ลาว 12% และเนื้อโคแปรรูป ไปยังญี่ปุ่น 100% สำหรับการนำเข้าเนื้อโคของไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากออสเตรเลีย เพื่อบริโภคและเป็นวัตถุดิบแปรรูปส่งออก ปริมาณการส่งออก-นำเข้าเนื้อและโคของไทย ในปี 2563 มีการนำเข้าโคมีชีวิตจากประเทศเมียนมาร์ 96% และส่งออกไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว 63% ทั้งนี้ ตลาดโคเนื้อไตรมาศ 4/63 ราคาโคมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 93.10 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.05 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาศ 3/63 ร้อยละ 0.27
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาโคเนื้อ กระบือ และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 25... 2) คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ 3) การบรรจุแผนการผลิตและการตลาดโคเนื้อ เข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาของ EEC
4) สรุปการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ กระบือ ภายใต้ยุทธศาสตร์โคเนื้อ-กระบือ กรมปศุสัตว์ 5) การใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปิดตลาดการค้าเสรี (FTA) 6) ความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อที่ขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากกองทุน FTA และ 7) ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (MOU)