ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.เกษตรฯ เล็งจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมผลไม้” เลือกจันท์-ลำพูน-นครศรีฯ-อุดรฯ เป็นเป้าหมาย
28 ก.พ. 2564

ก.เกษตรฯ เล็งผลักดันจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมผลไม้” ทุกภาคทั่วประเทศ หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม ปลดล็อกปัญหาราคาตกต่ำ สินค้าล้นตลาด ปักหลัก 4 จังหวัด จันทบุรี ลำพูน อุดรธานี และนครศรีธรรมราช ตั้งเป้าสิ้นปี 64 ผุดที่เมืองจันท์ อย่างน้อย 1 แห่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งผลไม้เมืองร้อน มีพื้นที่ปลูกผลไม้ถึง 7 ล้านไร่ทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นที่เลื่องลือว่ามีผลไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก อย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง เงาะ ลองกอง แต่บ่อยครั้งที่เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลไม้อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) จึงเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ในทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อสนับสนุนให้มีการแปรรูปผลไม้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดความสูญเสีย โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทุกจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันขับเคลื่อน

ทั้งนี้ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะเจาะไปในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ในแต่ละภาคของประเทศ เป้าหมายแรกคือ พื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ของไทย โดยเลือก จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตผลไม้ของภาคตะวันออก รายล้อมด้วยจังหวัดที่ผลิตผลไม้อย่าง จ.ระยอง และ จ.ตราด อีกทั้งอยู่ใกล้กับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ Eastern Fruit Corridor (EFC) ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะดำเนินการที่ จ.ระยอง อีกด้วย

ส่วนภาคเหนือ พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ ได้แก่ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ และอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้ของภาคเหนืออย่าง จ.พิษณุโลก และ จ.อุตรดิตถ์ อีกทั้งยังสามารถส่งผลไม้แปรรูปจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สะดวกรวดเร็ว

ขณะที่ภาคกลาง มีพื้นที่เป้าหมายที่สามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้อยู่หลายจังหวัด อันได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา สิงห์บุรี โดยจะมี บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เข้ามาร่วมมือด้วย

สำหรับภาคอีสาน พื้นที่เป้าหมายคือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ เพราะนอกจากจะมีนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีรองรับอยู่แล้ว และอยู่ไม่ไกลกับ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้แล้ว ยังโดดเด่นเรื่องโลจิสติกส์โดยสามารถขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจาก จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ติดกับอุดรฯ ไปยัง สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สะดวกด้วย

ส่วนภาคใต้ พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ คือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกผลไม้จำนวนมากและเป็นจุดเชื่อมระหว่างภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่างแล้ว ยังมีโครงการอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์วัลเลย์) อีกด้วย

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

หรือเอกชนที่มีความสนใจ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เนื่องจากสามารถใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ การดำเนินการไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ นิคมอุตสาหกรรมผลไม้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมเดิมได้เลย บางแห่งมีโรงงานว่างสามารถนำมาปรับเพื่อใช้เป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ผลไม้เป็นวัตถุดิบได้ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะสอดรับไปกับโครงการ “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“จากข้อมูลพบว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น ในปี 2564 นี้ เกษตรไทยจึงมีการปลูกและผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นถึง 20% กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องวางแผนรับมือและสร้างความยั่งยืนให้ผลไม้ไทย จากเดิมที่ผลิตและจำหน่ายในรูปของผลไม้สดเป็นหลัก ก็จะขยายไปในส่วนของการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ผลไม้เกรดเอก็ส่งออกและจำหน่ายในประเทศในรูปของผลไม้สด ส่วนเกรดรองๆ หรือผลไม้ที่ล้นตลาดก็นำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โดยมีนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ขึ้นมารองรับในส่วนนี้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลไม้และป้องกันปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ โดยเรามีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 นี้จะมีนิคมอุตสาหกรรมผลไม้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 แห่ง โดย จ.จันทบุรี จะเป็นพื้นเป้าหมายแห่งแรกที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว พร้อมระบุต่อไปว่า

“ผลไม้ไทยมีศักยภาพสูงมากและเป็นท็อป 10 ในการส่งออกของประเทศ เรามีตลาดทั้งในจีน ยุโรป และตะวันออกกลาง เช่น ราชาผลไม้อย่างทุเรียน สามารถส่งออกไปจีนได้ถึงปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราสามารถนำมาต่อยอดในการส่งออกผลไม้แปรรูปหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ผลไม้เป็นวัตถุดิบหลัก โดยฟรุตบอร์ดซึ่งมีนักบริหารมืออาชีพระดับประเทศ เช่น ดร.กนก อภิรดี อดีตประธานธนาคารเอสเอ็มอี และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย จะเข้ามาช่วยวางแผนการตลาดตรงนี้” นายอลงกรณ์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...