นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสัตว์ที่มีการค้าภายในตลาดนัดสวนจตุจักร พบในกระรอก แมว และสุนัข มีเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนาไวรัส กลุ่ม Alpha (อัลฟ่า) ชนิดไม่ติดสู่คน แตกต่างจากโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มของ Beta (เบต้า) และไม่ตรงตามที่สื่อต่างประเทศเสนอข่าวว่าประเทศไทยเป็นต้นตอของการกำเนิดเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น ขณะที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นตลาดซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่ในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นจุดลักลอบค้าสัตว์ป่า แต่ได้ดำเนินการจับกุมและตัดวงจรขบวนการลักลอบอย่างเด็ดขาดจนไม่มีการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าแล้ว ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ สัตว์ตัวกลาง แม้เชื้อกว่าร้อยละ 90 อยู่ในค้างคาว หากสัตว์ตัวกลางอย่างลิ่น (ตัวนิ่ม) เก้ง กวาง ชะมด อีเห็น รับเชื้อจากค้างคาวมีโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์ได้ เมื่อมนุษย์จับสัตว์ดังกล่าวมากินจะมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ ดังนั้น อาชญากรรมสัตว์ป่าจึงเป็นภัยคุกคามทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า จนนำไปสู่การเกิดโรคอุบัติใหม่ จึงจำเป็นต้องเข้มงวดกับการต่อต้านการล่าและค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ รวมถึง การบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าและการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หรือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่
ด้าน นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมอุทยานฯได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในธรรมชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561-2580) ได้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค , กรมปศุสัตว์ , คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ , คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศหลายองค์กรดำเนินการด้านต่างๆ ทั้งด้านศึกษาวิจัย การสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์หลายชนิด พบประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 146 ชนิดทั่วประเทศ และพบสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากกว่า 400 ตัวอย่าง ทั้งเป็นไวรัสเดิมที่มีการพบทั่วโลกและไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีรายงานก่อนในคน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีรวัฒน์ เหมาะจุฑา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโควิด-19 จำนวน 100 ร้อยเปอร์เซ็น แม้จะพบเชื้อแม่พิมพ์ของไวรัสโคโรนา แต่ไม่สมบูรณ์ที่จะนำไปสู่การระบาดในมนุษย์ ขณะเดียวกันพบการติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 50 จึงจำเป็นต้องมีการเข้มงวดตรวจและถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโรคจากน้ำลายในราคา 50 บาท จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป