ทางหลวงชนบท เตรียมทุ่มงบ 4.5 พันล้าน ก่อสร้างสะพานทะเลสาบสงขลา เชื่อมพัทลุง-สงขลา ร่นระยะทางระหว่าง 2 จังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร ลุยศึกษาความเหมาะสม พร้อมเดินหน้าสำรวจออกแบบ วางแผนการ คาดก่อสร้างภายในปี 2565
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการเดินทางระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลามีจำนวนมาก ซึ่งตลอดแนวทะเลสาบสงขลามีสะพานอยู่เพียง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานชะแล้ จังหวัดพัทลุง และสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (สะพานไสกลิ้ง – หัวป่า) จังหวัดสงขลา โดยสะพานทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างกัน 60 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของทะเลสาบ ต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
จากปัญหาดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา จึงขอรับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งหากก่อสร้างสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะการเดินทางได้มากกว่า 80 กิโลเมตร ลดระยะเวลาในการเดินทางได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาให้สามารถเดินทางไปยังจังหวัดพัทลุงได้รวดเร็วมากขึ้นหากเกิดภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ทช.จึงเล็งเห็นความสำคัญในการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การลงทุนและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเส้นทางดังกล่าว รวมถึง จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย ทช.ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว จำนวน 5 ครั้ง
สำหรับลักษณะโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเป็นการก่อสร้างสะพานใหม่ โดยมีพื้นที่การศึกษาและแนวสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มีจุดเริ่มต้นโครงการจากถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4004 กม.ที่ 3+300 บริเวณ หมู่ 1 บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แนวสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมต่อกับจุดสิ้นสุดโครงการที่แยกตัดกับถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณ หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการสรุปรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการสำรวจออกแบบรายละเอียดพร้อมจัดทำแบบก่อสร้างและประมาณราคา จากนั้นจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2565 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 4,500 ล้านบาท