ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แถลงข่าวผลการปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในกรณีกิจการสวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาต “มุกดาสวนเสือและฟาร์ม” ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย (GEF. 6) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยพญาเสือ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้า ตรวจสอบสวนสัตว์มุกดา ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ตำบล บางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ทั้งนี้จากการข่าวพบว่ามีพฤติกรรมในการลักลอบค้าเสือโคร่ง โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ดำเนินคดีกับสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม และได้ตรวจยึดเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว นอกจากนี้ยังได้ทำการอายัดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเสือโคร่งไว้ตรวจสอบจำนวน 3 รายการ เพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) หาความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูก ตามที่สวนสัตว์ได้แจ้งเกิดไว้ จากการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มีผลรายงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม ๒๕๖4 และศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ๒๕๖4 พบว่า เสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “ข้าวเม่า” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ข้าวเปลือก” ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “โดโด้” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “มะเฟือง” แต่อย่างใด และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ข้าวเหนียว” ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “โดโด้” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “มะเฟือง” อีกทั้ง ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “ให้ลาภ” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ให้ทอง”
สำหรับแนวทางการจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะดำเนินการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม สืบเนื่องจาก มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในคดีความอาญา และดำเนินการทางปกครองตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนี้
(1) มาตรา 76 “…ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรอง แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดให้…”
(2) มาตรา 77 “…ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรอง เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคาสั่งตามมาตรา ๗๖…”
(3) มาตรา 78 “…ให้อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรองได้ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรอง หรือไม่แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด หรือผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองและได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรา ๗๖ อีกภายในหนึ่งปี…”
(4) มาตรา 79 “…ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง ถ้าผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าควบคุม หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวไว้ในครอบครอง ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด…”
สำหรับ เสือโคร่งของกลาง “ข้าวเม่า” และ “ข้าวเปลือก” ได้นำไปเลี้ยงดูแลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซากเสือโคร่ง “ข้าวเหนียว” ถูกเก็บรักษาโดยแช่ในฟอร์มาลีนไว้ที่ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป