นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน และด่านกักกันสัตว์ พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรม พุน้ำร้อน ณ สำนักงานศุลกากรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ที่ปรึกษาและคณะทำงาน รมช.เกษตรฯ นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ตลอดจนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จากนั้น รมช.เกษตรฯ นำคณะลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญจากเมียนมาร์ อาทิ ปลาหมึก และหอมแดง เป็นต้น
นายประภัตร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 เห็นชอบการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเป็นการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อนราชอาณาจักรไทย ตรงข้ามบ้านทิกิ เมืองทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ขึ้น
สำหรับด่านศุลกากรพุน้ำร้อนเป็นด่านพรมแดนอยู่ในการดูแลของด่านศุลกากรสังขละบุรี รับผิดชอบดูแลด่านพรมแดนหลัก 2 แห่ง ได้แก่ ด่านพรมแดนพระเจดีย์สามองค์ และด่านพรมแดนพุน้ำร้อน โดยในปี 2563 มีสินค้าปศุสัตว์นำเข้า ได้แก่ โค 2,778 ตัว กระบือ 379 ตัว สินค้าส่งออก ได้แก่ สุกร 1,967 ตัว ไก่ 1,308,757 ตัว และชิ้นส่วนไก่ 373,500 ตัว สำหรับแนวโน้มการส่งออกชิ้นส่วนไก่และไก่มีชีวิตลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เลี้ยงไก่เนื้อใน จ.กาญจนบุรี ที่เลี้ยงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ
“ด่านพุน้ำร้อนถือเป็นด่านที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศได้เป็นได้ดี อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 8,000 กว่าไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 2,900 ไร่ ซึ่งจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมทั้งด้านสาธารณูปโภค เพื่อให้ผู้ค้าเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ ส.ป.ก. สำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อให้เกษตกรทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้ภายใต้สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (กู้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 100 บาทต่อปี) พร้อมทั้งให้กรมชลประทานสำรวจแหล่งน้ำในพื้นเพื่อรองรับการเกษตร เชื่อว่าหากสำเร็จจะเป็นศูนย์กลางการส่งออกและนำเข้า ของประเทศ เนื่องจากมีความได้เปรียบ เส้นทางสมบูรณ์ ติดกับกรุงเทพฯ ทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นด้วย” นายประภัตร กล่าว