ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทล.ได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงแนวใหม่ ระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตก-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 347-จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการเดินทาง ระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ด้านตะวันตก)-ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ด้านตะวันออก) ของ จังหวัดปทุมธานี ตลอดจนเสริมโครงข่ายทางหลวงตามแนวสายทาง ปทุมธานี-รังสิต-อ.องค์รักษ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่น และเป็นเส้นทางเสริมโครงข่ายการจราจรบริเวณจังหวัดปทุมธานีให้มีโครงข่ายการเดินทางที่สมบูรณ์
โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม. 0+000 จุดสิ้นสุดโครงการ ที่ กม.14+347 ระยะทาง 14.347 กม. รวมงานออกแบบปรับภูมิทัศน์บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานสามโคก) และกรมทางหลวงได้ออกแบบใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นพื้นที่ควบคุมและบำรุงรักษาทางหลวง และอีกส่วนหนึ่งให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เช่น ลานกีฬา สวนพักผ่อน และสถานที่จัดงานตามเทศกาลต่างๆ โดยมูลค่าลงทุนโครงการรวม 9,590 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างช่วงทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตก-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 347 โดยใช้ชื่อโครงการในการเสนอขอรับงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 คือ แยกทางหลวงหมายเลข 9 (บ.บางเตย) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3214 (บ.พร้าว) ซึ่งโครงการได้รวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย “สะพานสามโคก” และจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่รองรับการเดินทางระหว่างด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของจังหวัดปทุมธานี
โดยพื้นที่สำหรับการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการ ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อ.เมืองปทุมธานี อ.สามโคก และ อ.คลองหนึ่ง 7 ตำบล คือ ต.คลองควาย ต.บางเตย ต.สามโคก ต.บ้านประทุม ต.เชียงรากใหญ่ ต.บางพูด และตำคลองหนึ่ง
ปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงบริเวณโดยรอบตัวจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตก – ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางทำให้มีปริมาณจราจรจำนวนมาก อีกทั้งต้องรองรับปริมาณจราจรในช่วงเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้ตัวจังหวัดปทุมธานีเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัย ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
กรมทางหลวงได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงแนวใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่รองรับการเดินทางระหว่างด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของจังหวัดปทุมธานี โดยไม่ต้องใช้เส้นทางรังสิต-ปทุมธานี และรังสิต-นครนายก ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เพื่อเป็นการช่วยระบายปริมาณการจราจรบนโครงข่ายทางหลวงในปัจจุบันให้มีปริมาณการจราจรเบาบางลง
โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งบนทางหลวงสายหลักตามแนวด้านตะวันตกและด้านตะวันออก เชื่อมโครงข่ายทางหลวงบริเวณโดยรอบจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วลดระยะเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทางและบรรเทาปัญหาการจราจรในปัจจุบัน