นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัล “Best Bioprocessing Excellence in South East Asia” จากงานสัมมนาด้านชีววัตถุ เรื่อง Biologics Manufacturing Asia and Biologistics World Asia 2021 ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดโดย IMAPAC ประเทศสิงคโปร์ ในปีนี้เป็นการมอบรางวัลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการรับรางวัลครั้งนี้นับเป็นการรับรางวัลครั้งที่ 3 ขององค์การเภสัชกรรม โดยครั้งแรกรับรางวัลเมื่อปี พ.ศ.2560 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2563 การพิจารณารางวัลนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยพิจารณาจากองค์กรที่มีการดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตชีววัตถุ/วัคซีน อย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และอีกส่วนหนึ่งจากการโหวต ของผู้เข้าร่วมสัมมนา และผู้ที่เคยเข้าร่วมสัมมนา โดยมีหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อเป็น Final lists ในหมวด “Best Bioprocessing Excellence in South East Asia” นี้ จำนวน 5 หน่วยงาน จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ผู้ผลิตจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย สำหรับรางวัลนี้ ปกติในทุก ๆ ปี จะต้องเข้ารับที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับการสัมมนาเพื่อเสนอข้อมูลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชีววัตถุในกลุ่มวัคซีน ชีววัตถุของประเทศต่าง ๆ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางคณะผู้จัดงานจึงกำหนดให้รับรางวัลผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นลดความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 โดยการรับรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 17.00 น. ณ ประเทศสิงคโปร์
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า รางวัลนี้มอบให้เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานอุตสาหกรรมที่มีผลงานยอดเยี่ยม มีงานนวัตกรรมในด้านกระบวนการผลิตชีววัตถุในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งองค์การเภสัชกรรม มีผลงานที่โดดเด่น ด้านนวัตกรรม การพัฒนา และผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การวิจัย พัฒนา โดยเฉพาะในปีนี้ที่องค์การเภสัชกรรมได้นำเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาปรับเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 โดยหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นดังกล่าวเกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่ที่ผิว ซึ่งไวรัสที่ตัดแต่งพันธุกรรมนี้นอกจากจะมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 แล้ว ยังสามารถเพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ องค์การเภสัชกรรมจึงสามารถใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักที่มีอยู่ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดนี้ได้ จากการทดสอบความเป็นพิษในหนูแรท (rats) ที่ประเทศอินเดีย และการทดสอบประสิทธิภาพ (Challenge study) และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity Study) ในหนูแฮมสเตอร์ (Hamsters) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยในมนุษย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะสามารถเริ่มศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ในวันที่ 22 มีนาคมนี้ “รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจสำคัญของทีมงานองค์การเภสัชกรรม ในการที่จะขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนาและผลิตชีววัตถุ/วัคซีน เพื่อความมั่นคง การพึ่งพาตนเอง ของประเทศไทย” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าว