ปลัดเกษตรฯ เผยคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด 3 ระดับ ผลิตสับปะรดคุณภาพ สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมสับปะรดไทย
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565 ครั้งที่ 2/2564 ว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 – 2565 และที่ประชุมยังมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเพิ่มเติมเป้าหมายและงบประมาณของโครงการใดที่ไม่สามารถระบุได้ ให้คำนวณประมาณการสัดส่วนเฉพาะสินค้าสับปะรด นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุง (ร่าง) แผนการปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 – 2565 ให้สมบูรณ์ และส่งให้ฝ่ายเลขานุการภายในวันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อจะได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ต่อไป
สำหรับ (ร่าง) แผนการปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 – 2565 แบ่งเป็นแผน 3 ระดับ ได้แก่ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต โดยมีประเด็นแผนปฏิบัติการ 1. พัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตสับปะรดเพื่อการบริหารจัดการผลิตตามแผนที่เกษตรเชิงรุก Agri – map 2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและตรวจรับรองมาตรฐาน โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ 3. พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 4. การวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป โดยมีประเด็นแผนปฏิบัติการ 1. วิจัยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด 2. เพิ่ม ประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) 3. เพิ่มมูลค่าของสับปะรดทั้งระบบ
ด้านการเพิ่มศักยภาพการตลาดและการส่งออก โดยมีประเด็นแผนปฏิบัติการ 1. ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศเป้าหมาย 2. เชื่องโยงตลาด และส่งเสริมรณรงค์การบริโภคสับปะรดภายในประเทศ ผ่านช่องทางการกระจาย / จำหน่าย ในรูปแบบต่างๆ 3. สร้างตราสินค้าสับปะรดไทยแทนการรับจ้างผลิต (OEM) และขอใช้ตราสินค้าร่วมกับตราที่มีจำหน่ายแล้ว (Co – Branding)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังสถานการณ์ ส่วนของสับปะรดที่ใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม และบริโภคสด ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ผลผลิตออกมาพร้อมๆ กัน ในช่วงเดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน และในช่วงเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม โดยคาดการณ์ว่า ราคาสับปะรดจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และในภาคการส่งออกจะใกล้เคียงกับเมื่อปีที่แล้ว และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้