กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหรืออาจได้รับผลกระทบภาวะแล้ง สำรองน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ก่อนนำมาดื่มต้องผ่านการกรองหรือต้มลดการเกิดโรคทางเดินอาหารและน้ำ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ฝนได้ทิ้งช่วงในบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยลง ความสะอาดของน้ำก็ลดลงด้วย และ อาจส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำ เช่น อหิวาตกโรค อุจาระร่วง บิด เป็นต้น หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ควรสำรองน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ภายในหน่วยงาน เฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในชุมชน โดยใช้ชุดทดสอบภาคสนามตรวจการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียหากเป็นน้ำประปาควรตรวจปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ และแจ้งผลการเฝ้าระวังดังกล่าวให้แก่หน่วยผลิตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดการคุณภาพน้ำให้สะอาด ปรับปรุงคุณภาพน้ำอย่างง่ายในครัวเรือน เช่น การต้ม การเติมคลอรีนและล้างภาชนะสำรองน้ำอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับครัวเรือน ร้านอาหาร และสถานประกอบการขนาดเล็ก ควรวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดยจัดหาภาชนะที่สะอาด ปลอดภัย มีฝาปิด สำหรับ สำรองน้ำตามอัตราการใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ตรวจสอบภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ถัง เพื่อนำมา ล้างทำความสะอาดสำหรับสำรองน้ำในช่วงเกิดภัยแล้ง และช่วยกันดูแลรักษาสภาพของแหล่งน้ำโดยการกำจัดวัชพืช ขุดลอก คู คลอง หนอง บึง สระ ที่เป็นแหล่งน้ำชุมชนให้สะอาดและสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น หากเกิดภัยแล้งอาจจะต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำนี้มาผลิตน้ำประปา ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่น ๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำ และให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้นำสารส้มออกตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรค โดยใช้หยดทิพย์ (อ.32) ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเติมผงปูนคลอรีนตามปริมาณที่กำหนด จากนั้นปล่อยให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรค อย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้ สำหรับพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 1-2 นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด และให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบประปาและระบบท่อส่งน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียและลดการปนเปื้อน ที่สำคัญต้องเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาให้มีคลอรีนหลงเหลือ 0.2 - 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร รวมถึงวางแผนในการสำรวจ ตรวจสอบความพร้อมของแหล่งน้ำ ที่มีศักยภาพในชุมชนโดยเฉพาะบ่อน้ำบาดาล ต้องตรวจสภาพ ปริมาณและคุณภาพน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง ไว้ใช้ในช่วงเกิดภัยแล้ง ซ่อมบำรุงรถบรรทุกน้ำและล้างทำความสะอาดส่วนที่ใช้บรรทุกน้ำให้พร้อมอยู่เสมอ พร้อมเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชนในการเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างถูกต้อง” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 26 มีนาคม 2564