นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ชี้แจงถึงมติ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ได้มีมติให้ปลด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (จังหวัดอุบลราชธานี) ออกจากราชการ ว่า
“มติ อ.ก.พ. กระทรวงฯ ดังกล่าว ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (นายธัญญา เนติธรรมกุล) ร่วมเป็นอนุกรรมการอยู่ด้วยนั้น เป็นการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อกล่าวหา เผาบ้านของนายคออี้ มีมิ หรือ ปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวบ้านบางกลอย และบ้านของชาวบ้านอีก 98 หลังในพื้นที่บ้านบางกลอยบน เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยนายคออี้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์และพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และต่อมานายคออี้ ได้ฟ้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง โดยคดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 และคดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า นายชัยวัฒน์ กับพวก ใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำความผิด ในการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของนายคออี้ และพวก และสำนวนได้ถูกส่งต่อไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ท. นั้น
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดและได้ส่งรายงานพร้อมความเห็นให้กับหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานต้นสังกัดต้องดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติชี้มูลภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้มีการส่งเรื่องมา ซึ่งหากกระทรวงฯ ละเลยไม่ดำเนินการ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยด้วยเช่นกัน
สำหรับในกรณีนี้ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ซึ่งมีโทษให้ไล่ออก หรือให้ปลดออก เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายชัยวัฒน์ เป็นบุคลากรที่มีความตั้งใจในการทำงาน มีผลงานโด่นเด่นเป็นที่ประจักษ์ และมีความดีความชอบในการปฏิบัตงานด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเสมอมา จึงมีมติให้ปลดออกจากราชการ โดยยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ”
นายจตุพร กล้าวทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม การปลดนายชัยวัฒน์ออกจากราชการ นับเป็นความสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน ทั้งของกระทรวงฯ และของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงขอฝากไปถึงพี่น้องข้าราชการทุกคน ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลางและปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ขอให้มีความอดทนอดกลั้น ทำงานโดยนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ศึกษาระเบียบปฏิบัติ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้ชัดเจน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงใจ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทรวงฯ ต้องสูญเสียบุคคลากรที่มีคุณภาพอย่างเช่นในกรณีนี้อีก”
ทั้งนี้ หากนายชัยวัฒน์ เห็นว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรม ในระบบราชการพลเรือนสามัญมีการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการ โดยสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ได้ หรือสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ด้วยเช่นกัน