นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาเลขาธิการ กกต.ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความล่าช้าว่า เรื่องการสรรหาเลขาธิการ กกต.ยังอยู่ในชั้นของคณะกรรมการสรรหาที่ต้องรอเสนอเข้ามาให้ กกต.พิจารณา ส่วนสาเหตุที่ดำเนินการไปได้ช้านั้นอยู่ที่ประเด็นคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ทำให้มีการชะลอกระบวนการสรรหาไปก่อน เพราะกลัวศาลปกครองจะสั่งยกเลิกกระบวนการสรรหา แต่ขณะนี้เห็นว่าเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงไม่รอแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการสรรหาคงจะมีการส่งเข้ามาให้ กกต.พิจารณาในเร็วๆ นี้
ก่อนหน้านี้หลังปิดการรับสมัครเลขาธิการฯ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีผู้ยื่นสมัครทั้งสิ้น 15 ราย คณะอนุกรรมการดำเนินการสรรหาและตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ที่มีนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่ามี 6 รายที่มีปัญหาคุณสมบัติ ซึ่งต่อมา 2 ใน 6 รายที่คณะอนุกรรมการตัดสิทธิเพราะขาดคุณสมบัตินั้น มีการยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อ กกต. และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ส่งผลให้ กกต.ต้องชะลอการกระบวนการสรรหาไว้ก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน
โดยนายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องต่อคณะอนุกรรมการฯ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา กรณีคณะอนุกรรมการฯ ตัดสิทธิการเข้ารับการคัดเลือก เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทบริหารตั้งแต่บริหารระดับต้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มารวมแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ตามที่ประกาศ กกต.เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ลงวันที่ 3 ก.พ. 2559 กำหนดไว้ ซึ่งนายชัยนันท์เห็นว่าประกาศข้อดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งตัดสิทธิการเข้ารับการสรรหา
ขณะที่นายณรงค์ วัฒนานุกูล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต. ในปมเดียวกัน โดยอ้างว่า ก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.และลงสมัครผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็กำหนดคุณสมบัติโดยอนุโลมให้กับตำแหน่งเทียบเท่าสายบริหารสามารถสมัครได้