กระทรวงแรงงาน จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ในกิจการสินค้าประเภท กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ระหว่างสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จำนวน 12 องค์กร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดพิธีประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในกิจการสินค้าประเภท กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ในสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย โดยสินค้าเหล่านี้ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุเชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา จึงมีพิธีประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประกอบด้วย 12 องค์กร ได้แก่ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และคลัสเตอร์สหกรณ์กุ้งคุณภาพภาคใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและเอกชนไทยที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและยังเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติการร่วมกัน เช่น การสำรวจข้อมูลของแรงงาน การให้ความรู้แก่แรงงาน การสนับสนุนให้มีการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปจนถึงการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสินค้าของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุเชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ
ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เกิดผลทางจิตวิทยาต่อผู้ซื้อ ผู้บริโภคในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้า ส่งผลต่อการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาแก่สินค้าของประเทศไทย ทำให้กระทบต่อธุรกิจการส่งออกอันถือเป็นแหล่งรายได้หลักทางหนึ่งของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว