เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2563 - มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการผลิต นำเข้า จำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีและการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้
- สั่งระงับโฆษณาผิดกฎหมายและดำเนินคดี 1,706 คดี
- เปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 3,053 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 41,429,250 บาท และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 446 คดี
- ออกคำสั่งทางปกครอง โดยยกเลิกเลขสารบบอาหาร 874 รายการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเขื่อโดยไม่สมควร ในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค, การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล, เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ และสถานที่ผลิต นำเข้า มีสภาพร้าง เป็นต้น และเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง 3,837 รายการ ด้วยเหตุจากการผลิตเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือไม่มีสภาพเป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง
- ปราบปรามการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 164 คดี คดีที่สำคัญ เช่น การปราบปรามการลักลอบจำหน่ายชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ถุงมือตรวจโรคทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ยาทำแท้ง รวมมูลค่าของกลาง 991,044,340 บาท
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และสมประโยชน์
ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หากพบเห็นหรือสงสัยโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ https://www.fda.moph.go.th/