ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีนโยบายสำคัญ 15 ด้าน ขับเคลื่อนการทำงานใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เป็นยุทธศาสตร์หลักเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์ (แพลตฟอร์มรายสินค้าเพื่อรองรับ New Normal) ตลาดออฟไลน์ Modern Trade รถโมบาย ตลาดสด คาราวานสินค้า เกษตรพันธสัญญา และเคาน์เตอร์เทรด จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจ ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยใช้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ร่วมกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับเกษตรกร ยุทธศาสตร์ “3’s” Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน
โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน และสนับสนุนการทำแผนบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา รวมถึงการใช้ Agri-Map เพื่อให้มีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการตลาด เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ การสร้างความร่วมมือในการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมทั้งสินค้าและทรัพยากรทางการเกษตร และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบายและข้อมูลสารสนเทศการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ต้องมีการขับเคลื่อนในเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร เพื่อการบริหารและช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่รอบด้าน โดยรวบรวมข้อมูลและการดำเนินงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรให้ครอบคลุมทุกมิติ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตร และทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy : BCG Economy) เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย สร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เป็นภูมิคุ้มกัน กระจายรายได้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ หรือ Special Agricultural Economic Zone ที่ได้มอบหมาย สศก.ศึกษาโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร และศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จึงได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานให้บุคลากรได้นำไปปรับใช้ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรอย่างรอบด้าน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ “องค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565”