นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าในปี 2564 กระทรวงคมนาคมจะผลักดัน 3 โครงการวงเงินรวมประมาณ 83,520 ล้านบาท ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1. โครงการทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทล.วางเป้าหมายเปิดประมูลกลางปีนี้ จะเชื่อมต่อทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ ทล.กำลังก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 65
2.โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 28,135 ล้านบาท จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โดยสั่งการให้ ทล.เร่งศึกษาเพื่อขออนุมัติกระทรวงคมนาคม รวมทั้ง ครม.ภายในปีนี้
และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร วงเงิน 35,685 ล้านบาท จะเร่งเสนอ ครม.ภายในปีนี้เช่นกัน โดยใช้หลักการให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) คาดว่าจะผลักดันให้เดินหน้าได้และตอบโจทย์การจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานประเทศไทยตั้งแต่ ครม.ยุคก่อน (ประยุทธ์ 1) จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 6-7 ปีแล้ว ต้องการให้เร่งดำเนินโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว และสามารถเปิดบริการได้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางกลับเข้ามา ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมดำเนินหลายโครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อาทิ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่เตรียมเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบช่วงเดือน พ.ย. 2564 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายพัทยา-มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการและเก็บค่าผ่านทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเปิดเผยภายหลังประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนา ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกันยายน 2564 ปัจจุบันงานศึกษาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายในเบื้องต้น และคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น
ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมทางหลวงเร่งจัดทำรายละเอียดผลการศึกษาให้มีความชัดเจน โดยให้นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใน 1 เดือน และจะมีการเชิญประชุมเพื่อเสนอแนวคิด การออกแบบ และจัดทำร่างแผน MR-MAP ก่อนจะนำไปเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่อไป
สำหรับเส้นทางในการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด) - นครพนม (ด่านนครพนม) ช่วงสายทาง 1) ด่านแม่สอด-พิษณุโลก 2) พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) 3) เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) - ขอนแก่น 4) ขอนแก่น-มุกดาหาร และ 5) มุกดาหาร-นครพนม
2. เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงสายทาง 1) ด่านเจดีย์สามองค์-นครสวรรค์ 2) นครสวรรค์-นครราชสีมา และ 3) นครราชสีมา-อุบลราชธานี
3. เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ช่วงสายทาง 1) ด่านน้ำพุร้อน-กาญจนบุรี 2) กาญจนาภิเษก-สระแก้ว และ 3) สระแก้ว-อรัญประเทศ 4. เส้นทาง MR4 ชลบุรี-ตราด (ด่านคลองใหญ่) ช่วงสายทาง 1) ชลบุรี-ระยอง และ 2) ระยอง-ตราด
5. เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง 6. เส้นทาง MR6 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี 7. เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ) - สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ช่วงสายทาง 1) ด่านเชียงของ-เชียงราย 2) เชียงราย-เชียงใหม่ 3) เชียงใหม่-พิษณุโลก 4) พิษณุโลก-นครสวรรค์ 5) นครสวรรค์-สระบุรี 6) นครสวรรค์-สุพรรณบุรี 7) สระบุรี-นครปฐม 8) นครปฐม-ชะอำ 9) ชะอำ-ชุมพร 10) ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 11) สุราษฎร์ธานี-สงขลา 12) สงขลา-ด่านสะเดา และ 13) สงขลา-นราธิวาส
8. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงสายทาง 1) ขอนแก่น-หนองคาย 2) นครราชสีมา-ขอนแก่น และ 3) นครราชสีมา-แหลมฉบัง 9. เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) - สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) 10. เส้นทาง MR10 สระบุรี-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร
โดยได้พิจารณา 3 เส้นทางนำร่องที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR 5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กม. ซึ่งมีทางเลือกในการพัฒนาโครงข่าย จำนวน 3 ทางเลือก โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Land bridge ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
2. เส้นทาง MR 8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กม. โดยเบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง
3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม. โดยเบื้องต้นกรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป กรมทางหลวงจะได้เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตาม นโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยจะได้ขยายงานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นให้ครอบคลุมโครงข่าย MR-MAP ทั้งหมดด้วย